หมูหริ่ง

หมูหริ่ง

หมูหริ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินพืชและเนื้อ

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Arctonyx collaris  F. Cuvier
จัดอยู่ในวงศ์ Mustelidae
มีชื่อสามัญ hog badger

 

ชีววิทยาของหมูหริ่ง


ลำตัวและจมูกคล้ายหมู ขนาดวัดจากปลายจมูกถึงโคนหางยาว ๖๕-๑๐๔ เซนติเมตร หางยาว ๑๒-๑๗ เซนติเมตร หูยาว ๓.๕-๔ เซนติเมตร น้ำหนักตัว ๗-๑๔ กิโลกรัม  ขนหยาบ หางสั้น คอสีขาว เล็บยาวโค้งแหลม อุ้งเท้าใหญ่ เหมาะสำหรับการขุดคุ้ยดิน ขนตามลำตัวสีออกเหลือง เทา และดำ จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล โดยมีแถบสีดำดาดลงมาจากส่วนหู ผ่านตาทั้ง ๒ ข้างลงมาถึงจมูก มีแถบสีขาวจากหน้าผากลงมาถึงริมปากบน และมีแถบสีขาวอีกจุดหนึ่งตรงแก้ม คอและขนที่ขอบหูสีขาว เป็นสัตว์ที่มีกลิ่นตัวแรงมาก จมูกไว ปราดเปรียว ตามปรกติชอบออกหากินตอนกลางคืน ส่วนกลางวันหลบซ่อนตัวตามโพรงดินหรือโพรงไม้ ชอบคุ้ยเขี่ยดินหาอาหารด้วยจมูกและเล็บเท้า หมูหริ่งเป็นสัตว์ดุร้าย ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน ตั้งท้องนานราว ๑๘๐ วัน ออกลูกครั้งละ ๒-๔ ตัว ช่วงแรกๆลูกๆจะอยู่ในโพรงดิน จนกว่าจะแข็งแรงพอจึงจะออกมาหากินพร้อมกับแม่  อายุยืน ๖-๗ ปี  อาหารเป็นพวกผลไม้ ผลมะเกลือ หน่อไม้ หนู กิ้งก่า แมลง และไส้เดือน ในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือและภาคใต้ ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเชีย และอินโดนีเชีย

 

ประโยชน์ทางยา


แพทย์แผนไทยรู้จักใช้ “น้ำมันหมูหริ่ง” อันเป็นน้ำมันที่ได้จากการเคี่ยวมันเปลวหมูหริ่ง เป็นยาพื้นในการเตรียมยาน้ำมันหรือยาขี้ผึ้ง เช่นในตำรับยาขนานที่ ๖๙ สีผึ้งบี้พระเส้น

 

รูปภาพจาก:in.pinterest.com,.xn--42cg8cuanoj5b9czdzg.com