เลียงผา

เลียงผา

เลียงผาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กีบคู่

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า capricornis  sumatraensis (Bechstein)
จัดอยู่ในวงศ์  Bovidae
มีชื่อสามัญว่า  serow

 

ชีววิทยาของเลียงผา

เลียงผาเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง  มี ๔  กระเพาะ  รูปร่างคล้ายแพะ  ขนาดวัดจากปลายจมูกถึงโคนหางยาว ๑.๔๐ – ๑.๕๐  เมตร  หางยาว ๑๐ – ๑๕  เซนติเมตร  น้ำหนักตัว  ๕๐ – ๗๐ กิโลกรัม  ขนบนลำตัวหยาบ ยาว สีดำ มีขนยาวสีดำเป็นแผงอยู่ในแนวสันหลังตั้งแต่ท้ายทอยถึงโคนหาง ใบหูยาว  มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย  เขาสีดำ  โค้ง  ปลายแหลม ยาว  ๑๗.๕ –  ๒๕  เซนติเมตร บริเวณโคนเขาขึ้นไปมีรอยหยักเป็นวงโดยรอบ ปลายเขากลมและเรียวโค้งไปทางด้านหลัง  ขาทั้ง ๔ มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ขนบริเวณเหนือกีบสีน้ำตาล  กีบสั้น  สีดำ บริเวณหน้ามีรูต่อมน้ำมันอยู่ใต้ตา ข้างดั้งจมูก และขับน้ำมันสีขาวออกมาตลอดเวลา หางสั้น เลียงผาชอบอยู่ตามป่าสูงที่มีหน้าผาหรือโคนหินสูงชัน  มีชะง่อนผากำบังเพียงพอ  ขี้อาย จะดุเมื่อบาดเจ็บหรือจนตรอก  วิ่งไต่ไปตามหน้าผาได้อย่างคล่องแคล่ว หากินอย่างโดดเดี่ยวในตอนเช้าตรู่หรือตอนเย็น กลางวันมักหลบนอนพักอยู่ตามป่าละเมาะตามชะง่อนผา หรือในถ้ำ อดน้ำได้นาน ว่ายน้ำเก่ง  ประสาทตา หู และจมูก ดีมาก กินผลไม้  หญ้า เห็ดหูหนู ใบไม้ หน่อไม้  เป็นอาหาร  โตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุได้  ๓  ปี หลังผสมพันธุ์  ตัวเมียจะแยกออกไปอยู่ต่างหาก  ตั้งท้องนานราว  ๘  เดือน ตกลูกครั้งละ ๑ ตัว ลูกเลียงผาอยู่กับแม่นานราว  ๑  ปีจึงจะแยกออกไปหากินตามลำพัง เลียงผาอายุยืนราว ๑๕   ปี เลียงผาที่พบในประเทศไทยมี  ๒ ชนิดย่อย คือ ชนิดย่อย  Capricornis  sumatraensis  sumatraensis  (Bechstein)  ซึ่งมีเท้าสีดำ พบบริเวณเขาหินปูน  ทางภาคใต้ กับชนิดย่อย  Capricornis  sumatraensis  millneedwardsi  David  ซึ่งมีเท้าสีออกแดง พบทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือ

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์แผนไทยใช้เขาเลียงผาเป็นเครื่องยา เขาเลียงผาเป็นเครื่องยาอย่างหนึ่งในพิกัดยาไทยที่เรียก  “สัตตเขา”  ได้แก่  เขาวัว  เขาควาย  เขากระทิง  เขากวาง  เขาแกะ  เขาแพะ และเขาเลียงผา นอกจากนั้น แพทย์พื้นบ้านลางแห่งใช้ “น้ำมันเลียงผา” สำหรับเตรียมยาน้ำมัน โดยผสมสมันไพรอื่นๆ อีกหลายชนิด  ว่าเป็นยาแก้อักเสบ  แก้ลมจับโปง (rheumatism) บำรุงข้อ บำรุงกระดูก

 

รูปภาพจาก:pinkanakorn.or.th,pixabay.com