เขากวางอ่อน

เขากวางอ่อน

เมื่อกวางผลัดเขา เขากวางแยกหลุดจากตอเขา ผิวหนังบริเวณรอบๆตอเขาจะเจริญขึ้น มาปิดแผลภายใน ๔-๕  วัน เลือดจะเริ่มเข้าไปหล่อเลี้ยง พร้อมกับมีสารประกอบแคลเซียมพอกสะสมขึ้น เขาใหม่จะคลุมด้วยหนังนุ่มๆ และขนสั้นๆสีน้ำตาลเหมือนผ้ากำมะหยี่ เขาลักษณะนี้เรียกว่า “เขากวางอ่อน”  ซึ่งหักได้ง่าย เมื่อหักจะมีเลือดออก กวางบางตัวอาจถึงตายได้ ถ้าเลือดออกไม่หยุด ในระยะที่มีเขาอ่อน กวางจะหากินอยู่ที่โล่งหรือที่โล่งแจ้ง โดยหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปในป่าทึบหรือป่าหนาม เขากวางอ่อนเป็นเครื่องยาที่รับรองเป็นตำรายาแห่งประเทศสหรัฐประชาชนจีน อาจได้จากเขาอ่อนกวาง  ๒  ชนิด  คือ
๑.กวางดอกเหมย  (sika  deer)   มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Cervus  Nippon  Temminck
๒.กวางแดง  (red  deer)   มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Cervus  elaphus  Linnaeus

 

เขากวางอ่อนนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า

pilose  antler มีชื่อยาในภาษาละตินว่า Cornu  Cervi  Pantotrichum เป็นเขากวางอ่อนที่เพิ่งงอก ภายในเขายังไม่เป็นกระดูกแข็งในการตัดเขากวางนั้น ใช้เลื่อยตัดออก โดยเริ่มตัดเขาอ่อนเมื่อกวางมีอายุตั้งแต่  ๓  ปีขึ้นไป ตัดได้ปีละ  ๑-๒  ครั้ง เมื่อตัดแล้วต้องนำไปแปลสภาพทันที เริ่มด้วยการล้างเอาสิ่งสกปรกที่ติดมากับขนบนเขากวาง แล้วบีบเลือดที่ติดมาอีกส่วนหนึ่งออกไป จากนั้นจึงใส่ลงในน้ำเดือด  ๓-๔  ครั้ง ครั้งละ  ๑๕-๒๐ วินาที เพื่อขับเลือดให้หมด จากนั้นจึงเอามาตากหรืออบให้แห้ง นอกจากนั้นยังอาจตัดเขากวางติดกับหัวกะโหลก แต่จะใช้กับกวางที่ป่วยหรือมีอายุมากแล้วเท่านั้น เขากวางอ่อนที่มีคุณภาพดีต้องเป็นเขาสมบูรณ์ (ขนละเอียด สีน้ำตาลอ่อนไม่หัก) มีน้ำหนักเบา ด้านล่างไม่มีรอยแยก หน้าตัดมีรูพรุนแน่น สีเหลืองเปลือกข้าว ส่วนที่มีขนหยาบไม่สมบูรณ์ หน้าตัดมีสีเทาปนแดง เป็นชนิดที่มีคุณภาพรองลงมา

 

ตำรายาจีนว่า

เขากวางอ่อนมีรสหวาน มีฤทธิ์ร้อน เป็นยาบำรุงชั้นดี ดังคำจีนโบราณที่ว่า “ยามเมื่อหมดเรี่ยวแรง หายาใดๆมิได้ หากได้กินเขากวางอ่อนแล้ว แม้หมดแรงก็ช่วยให้ฟื้นคืนได้เขากวางอ่อนมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงเลือด บำรุงกำลังทำให้กระดูกและเอ็นแข็งแรง แก้อาการอ่อนเพลีย ตาลาย หูตึง ตามัว เข่าเจ็บ และที่สำคัญคือ   ช่วยเสริมสมรรถนะทางเพศ แก้โรคน้ำกามไหลเองโดยไม่รู้ตัวเป็นประจำแก้ระดูมามากผิดปรกติ บำรุงครรภ์ (ทำให้เด็กในท้องสงบ) แก้อาการท้องร่วงเรื้อรัง โดยเฉพาะที่เกิดกับผู้สูงอายุ โดยทั่วไปใช้บดเป็นผง กินครั้งละ ๑-๒.๕ กรัม กับน้ำสุกจะใช้ดองเหล้า หรือปั้นเป็นยาลูกกลอนก็ได้ เนื่องจากเขากวางอ่อนเป็นยาบำรุงที่มีฤทธิ์ร้อน จึงห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีไข้ ถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด นอกจากนั้น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงหรือการทำงานของตับผิดปรกติก็ไม่ควรกินมากเกินไป

 

รูปภาพจาก:wyomingpublicmedia.org,campus.sanook.com