กุ้ง

กุ้ง

กุ้งเป็นชื่อเรียกสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังในชั้นครัสเตเชีย

กุ้งเป็นชื่อเรียกสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลังในชั้นครัสเตเชีย อันดับเคดาโพดา (order Decapoda) มีหลายวงศ์ สัตว์พวกนี้หายใจด้วยเหงือก ลำตัวยาว แบน หรือ กลม แบ่งเป็นปล้องๆ เปลือกที่หุ้มท่อนหัวและอกคลุมลงมาถึงอกปล้องที่ ๘ ส่วนใหญ่กรีมีลักษณะแบนข้าง ก้ามที่ขาอยู่ที่ส่วนหัวและอก มี ๑๐ ขา พบได้ทั้งในน้ำจืด เช่น กุ้งก้ามกราม กุ้งก้ามเกลี้ยง และในน้ำเค็ม เช่น กุ้งกุลาดำ

 

กุ้งในประเทศไทย

กุ้งที่พบในประเทศไทยมีมากหลายชนิด   แต่ที่มีขนาดใหญ่และบริโภคกันทั่วไป ได้แก่
๑.กุ้งก้ามกราม
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macrobrachium rosenbergii (de Man)

จัดอยู่ในวงศ์ Palaemonidae
มีชื่อสามัญว่า giant freshwater prawn หรือ giant prawn กุ้งใหญ่ กุ้งหลวง กุ้งก้ามคราม ก็เรียก ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียซึ่งเรียกกันว่า กุ้งนาง
กุ้งชนิดนี้เป็นกุ้งน้ำจืดขนาดใหญ่ ขนาดวัดจากโคนก้านตาถึงปลายหางยาว ๑๕-๒๕ เซนติเมตร ลำตัวสีครามทั้งเข้มและจางสลับกันเป็นลายพาดขวางลำตัว ขาคู่ที่ ๒ เป็นขาก้ามขนาดใหญ่ สีน้ำเงินหรือสีฟ้าอมเหลือง ใช้ป้องกันตัว และกอดรัดตัวเมียในขณะผสมพันธุ์ ส่วนปลายของกรีเรียวงอน ฟันกรีด้านล่างมี ๘-๑๕  ซี่ มีกระเพาะอยู่ตรงกลางทางด้านบนใต้เปลือกหัว  ลำไส้ทอดตามสันหลังไปถึงหาง หัวใจอยู่ถัดจากตอนท้ายของกระเพาะอาหารไปถึงตอนท้ายของเปลือกหัว มีตับทำหน้าที่สร้างน้ำย่อย  เรียก มันกุ้ง อยู่ทางส่วนหน้าบริเวณด้านข้างของส่วนหัว  ตับมีไขมันประกอบอยู่มากเป็นส่วนที่นิยมกินกันในหมู่คนไทย ตัวเมียที่พร้อมจะผสมพันธุ์ได้จะมีรังไข่สุกในบริเวณตอนกลางของเปลือกหัว มีสีส้มหรือสีเหลือง สังเกตได้ง่ายชาวบ้านเรียก แก้วกุ้ง กุ้งก้ามกรามกินทั้งสัตว์และพืชเป็นอาหาร ส่วนใหญ่เป็นหนอนน้ำต่างๆ  รากพืช  ซากพืช  หาอาหารโดยการดมกลิ่นและสัมผัส  หากขาดอาหารจะกินกันเอง  กุ้งชนิดนี้หากินตลอดวัน  แต่จะว่องไวมากตอนกลางคืน  ตามปรกติอาศัยอยู่ในแม่น้ำ  ลำคลอง  หนอง  บึง ที่มีทางน้ำติดต่อกับทะเล  ผสมพันธุ์และวางไข่บริเวณน้ำกร่อยปากแม่น้ำเมื่อตัวอ่อนโตพอก็จะว่ายน้ำกลับไปยังบริเวณแหล่งน้ำจืด


๒. กุ้งก้ามเกลี้ยง 
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Macrobrachium sintangensis ( de Man )
จัดอยุ่ในวงศ์ Palaemonidae
มีชื่อสามัญว่า  Sunda  river prawn
กุ้งแม่น้ำขาแดง ก็เรียก กุ้งชนิดนี้เป็นกุ้งน้ำจืด ขนาดวัดจากโคนก้านตาถึงปลายหางยาวราว ๙ เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลหรือสีฟ้าแกมเขียว เปลือกหัวเรียบ กรีเรียวงอน  ฟันกรีด้านบนมี ๙-๑๓ ซี่ ด้านล่างมี ๒-๖ ซี่ ขาคู่ที่ ๒ มีขนาดใหญ่กว่า  โดยมีความยาวใกล้เคียงกับลำตัว และมีปื้นสีน้ำตาลกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ขอบด้านในของโคนปล้องที่ ๗ ของขาคู่นี้ทีตุ่ม ๒-๓ ตุ่ม เฉพาะตัวผู้ที่โตเต็มวัยมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีส้มแกมแดง ปกคลุมบริเวณรอยต่อระหว่างปล้องต่างๆของขาคู่ที่ ๓, ๔ และ ๕ ตามปรกติอาศัยอยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง และแหล่งน้ำจืดที่มีทางน้ำติดต่อกับทะเล  ผสมพันธุ์และวางไข่บริเวณน้ำกร่อยปากแม่น้ำ


๓.  กุ้งกุลาดำ 
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Penaeus monodon Fabricius
จัดอยู่ในวงศ์ Penaeidae
มีชื่อสามัญว่า tiger prawn  jumbo หรือ grass prawn
กุ้งกุลาหรือ กุ้งแขกดำก็เรียก กุ้งชนิดนี้เป็นกุ้งทะเลขนาดใหญ่  ขนาดวัดจากโคนก้านตาถึงปลายห่งยาวราว ๓๐ เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลแกมเขียวและมีแถบสีเข้มกับสีจางพาดขวางตลอดลำตัว เปลือกหัวเกลี้ยง ไม่มีขน  ฟันกรีด้านบนมี๗-๘  ซี่ ด้านล่างมี ๓ ซี่  ช่องข้างกรีทั้งสองด้านแคบและยาวไม่ถึงฟันกรีซี่สุดท้าย  เป็นกุ้งที่ตัวโต มักอยู่ในพื้นที่ที่เป้นทรายปนโคลน  กินทั้งพืชและสัตว์เล็กๆในน้ำเป็นอาหาร  เมื่อโตเต็มที่จะอพยพจากชายฝั่งไปยังทะเลลึก  ๒๐-๓๐ เมตร เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่  ตัวอ่อนที่โตพอก็จะอพยพมาหากินยังชายฝั่ง

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์แผนไทยใช้ “มันกุ้ง” เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่งในตำรับยาแผนโบราณหลายขนาน เช่น ยาขนานหนึ่งในตำรายาศิลาจารึกวัดราชโอรสาราม ให้ยาแก้ฝีดาษอันเกิดในเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ และเดือน ๑ เข้า “น้ำมันหัวกุ้ง” เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้ ขนานหนึ่งเอาน้ำลูกตำลึง น้ำมันงา น้ำมันหัวกุ้ง น้ำมันรากถั่วภู เอาเสมอภาค พ่นฝีเพื่อเสมหะ  ให้ยอดขึ้นหนองงามดีนัก

  

รูปภาพจาก:sawasdeeseafood.com,komchadluek.net