สมุนไพรลิ้นงูเห่า

สมุนไพรลิ้นงูเห่า

ชื่อพื้นเมืองอื่น  ลิ้นงูเห่า (จันทบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Clinacanthus siamensis Bremek.
ชื่อวงศ์  ACANTHACEAE
ชื่อสามัญ Lin gnu hao.

 

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์

ไม้เถาล้มลุก (HC) -> ลักษณะพุ่มเลื้อย คล้ายต้นเสลดพังพอนตัวเมีย ลำต้นกลมสีเขียวเรียวยาว
ใบ -> เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรูปหอกหรือรูปหอกแกมขอบขนาน กว้าง 2-4 ซม. ยาว 6-12 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบเล็กกลม แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม ใบดกและหนาทึบ
ดอก -> ออกดอกเป็นช่อกระจุก สีแดงปนส้ม แต่ละข่อประกอบด้วยดอกย่อยอัดแน่น 10-15 ดอก ลักษณะคล้ายดอกเสลดพังพอนตัวเมีย กลีบเลี้ยงสีเขียวเป็นรูประฆังตื้นๆ โคนดอกติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบดอก 2 กลีบมีเกสรตัวผู้เป็นสีเหลืองแทงพ้นกลีบดอก
ผล -> เมื่อแห้งแตกได้ ภายในมีเมล็ด

 

นิเวศวิทยา

เกิดตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วๆไป นิยมปลูกตามสถานที่ต่างๆ ทั้งสวนสาธารณะ วัด และบ้านเรือน เพื่อเป็นไม้ประดับและใช้ประโยชน์ทางยา

 

การปลูกและขยายพันธุ์

เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบแดดจัด น้ำไม่ขัง เจริญเติบโตได้ในดินร่วน นิยมปลูกเป็นแปลงหรือเป็นแถว ขยายพันธ์ฺด้วยการเพาะเมล็ดหรือการปักชำกิ่ง

 

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคุณ

ราก -> รสจืดเย็น โขลกพอกดับพิษแมลงกัดต่อย
ใบ -> รสจืดเย็น โขลกหรือขยี้ทาแก้พิษร้อน โรคผิวหนัง พิษอักเสบและปวดฝี รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลดอาการอักเสบ

 

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้

1. เป็นยารักษาโรคผิวหนัง โดยใช้ใบสด 10-20 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาโขลกให้ละเอียด ใช้ทาและพอกบริเวณที่เป็น วันละ 2-3 ครั้ง เป็นประจำ จนกว่าจะหาย       
2. ลดอาการปวดแสบปวดร้อนของตุ่มแผลงูสวัด โดยใช้ใบสด 10-20 ใบ ล้างให้สะอาดนำมาโขลกให้ละเอียดผสมเหล้าโรงเล็กน้อย นำมาทาและพอกบริเวณที่มีอาการ เช้า-เย็น เป็นประจำ

 

ข้อควรทราบ

  • สีจากน้ำคั้นจะติดอยู่นาน จึงควรระวังการเปรอะเปื้อนเสื้อผ้าและร่างกายส่วนอื่นๆ

 

รูปภาพจาก:kuiherb/kui-herb-web,gherbthailand.com,l,สมุนไพร