สมุนไพรปรง

สมุนไพรปรง

ปรง Cycas circinalis Linn.
บางถิ่นเรียก ปรง (กลาง) มะพร้าวสีดา (ประจวบคีรีขันธ์).

ไม้ต้น สูงถึง 8 ม. ลำต้นทรงกระบอก เปลือกสีน้ำตาล ส่วนล่างเกลี้ยง ส่วนบนมีรอยแผลใบ มีเหง้ากึ่งใต้ดิน ใบอ่อนปลายม้วนเข้าข้างใน. ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ยาว 1.5-2.5 ม. ใบย่อยมี 80-100 ใบ เรียงสลับกัน รูปยาวแคบ กว้าง 7-12 มม. ยาว 15-30 ซม. ปลายใบแหลม หรือ ทู่ ปลายสุดเป็นหนามแหลม ขอบใบม้วนกลับลงด้านล่าง เส้นกลางใบเห็นเด่นชัดทั้ง 2 ด้าน ก้านใบยาว 40-60 ซม. มีหนาม โคนใบมีขนสีน้ำตาลแดง ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน. ดอกเพศผู้ (male-cone) ออกเป็นช่อแน่นที่ยอด 1-2 ช่อ ตั้งตรง รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 33 ซม. ตรงกลางกว้างประมาณ 7.6 ซม. มีก้านสั้น ๆ กาบซึ่งทำหน้าที่สร้างเรณู (spores) มีจำนวนมากเรียงรอบแกนกลาง รูปยาว โคนตรง ตั้งฉากกับแกนกลาง ปลายเป็นจงอยแหลม โค้งขึ้น โคนกาบด้านล่างมีอับเรณูรูปกลม ๆ จำนวนมาก. ดอกเพศเมีย ออกเป็นกาบ (microsporophyll) ยาว 15-20 ซม. อยู่ระหว่างใบ ส่วนบนรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายยาว และเรียวแหลม ขอบหยักแบบซี่ฟัน กว้างประมาณ 2.5 ซม. ยาวประมาณ 6-7 ซม. ส่วนล่างสอบแคบ มีไข่อ่อนติดอยู่ 2 ข้าง ข้างละ 2-4 หน่วย. เมล็ด รูปกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-8 ซม. เมื่อแก่จัด สีแดงอมส้ม.

นิเวศน์วิทยา : ขึ้นใกล้ลำธาร ตามหุบเขาในป่าดงดิบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 50-600 ม. ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ของไทย.

สรรพคุณ : ใบ น้ำคั้นใบอ่อน กินเป็นยาขับลม แก้คลื่นไส้อาเจียน และอาเจียนเป็นเลือด ดอก กาบ (bracts) ของดอกเพศผู้ ใช้ทำเครื่องยาสำหรับบำรุงร่างกาย เรณูเป็นยาเสพติด ผล เมล็ดสดเป็นพิษ ใช้เบื่อปลา แต่แป้งที่มีอยู่ประมาณ 31.2% เมื่อทำให้สุก ใช้เป็นอาหารได้

 

รูปภาพจาก:aliexpress.com,nanagarden.com,สมุนไพร