สมุนไพรบวมเหลี่ยม

สมุนไพรบวมเหลี่ยม 

บวมเหลี่ยม Luffa acutangula Roxb.
บางถิ่นเรียก บวมเหลี่ยม (กลาง) กะตอรอ (มาลายู-ปัตตานี) เดเรเนอมู เดเรส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) บวมหวาน (แม่ฮ่องสอน) มะนอย หมักนอย (เชียงใหม่) มะนอยข้อง มะนอยงู มะนอยเหลี่ยม (เหนือ).

      ไม้เถา  มีอายุเพียงปีเดียว ยอดอ่อนนุ่ม ขนจะค่อย ๆ หลุดร่วงไปเมื่อแก่ ลำต้นเป็นเหลี่ยมตามข้อมีมือเกาะเป็นเส้นยาว บางทีแยกเป็นหลายแขนง. ใบ เดี่ยว เรียงสลับกัน แผ่นใบรูป 5-7 เหลี่ยม ขอบใบมีรอยเว้าตื้น ๆ โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ก้านใบเป็นเหลี่ยม ยาว 4-9 ดอก. ดอก ดอกเพศเมีย และดอกเพศผู้ อยู่บนต้นเดียวกัน และมักจะออกตามง่ามใบแห่งเดียวกัน อาจออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ เป็นช่อ. ดอกเพศผู้ กลีบรองกลีบดอก โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ ด้านนอกมีขนสั้น และอ่อนนุ่มปกคลุม; กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับ สีเหลือง มีเกสรผู้ 3 อัน อับเรณูแบบ 1 ช่อง 1 อัน และแบบ 2 ช่อง 2 อัน. ดอกเพศเมีย กลีบรองกลีบดอก และกลีบดอก มีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้รังไข่รูปขอบขนานท่อรังไข่รูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็น 3 แฉก ภายในรังไข่มี 3 ช่อง มีไข่อ่อนจำนวนมาก. ผล ทรงกระบอก ยาวประมาณ 20 ซม. โคนเรียวเล็ก มีเหลี่ยมเป็นสันคม 10 สัน ตามความยาวของผล.

นิเวศน์วิทยา : ปลูกทั่วไปเพื่อใช้ผลเป็นอาหาร.

สรรพคุณ : ราก น้ำต้มราก กินเป็นยาระบาย และแก้อาการบวมน้ำ ใบ น้ำต้มใบ กินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ระดูผิดปกติ และขับเสมหะ ตำเป็นยาพอก ใช้ทาถอนพิษในคนไข้ม้ามโต แก้โรคริดสีดวงทวาร โรคเรื้อน ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย และแก้คัน ผล กินได้ มีวิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด มีคุณสมบัติเป็นยาเย็น บำรุงร่างกาย ลดไข้ แก้ร้อนในเป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ และทำให้ชุ่มคอ. เมล็ด เนื้อเมล็ด กินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน ขับนิ่ว กินมาก ๆ ทำให้อาเจียน ขับพยาธิตัวกลม โดยให้กินขณะท้องว่าง เด็กกินครั้งละประมาณ 30 เมล็ด ผู้ใหญ่ใช้ 40-50 เมล็ด ติดต่อกัน 2 วัน; ถ้าใช้ในปริมาณน้อยเป็นยาแก้บิด และขับเสมหะ แทนราก ipecacuanha ได้ดี น้ำมันเมล็ด ใช้ทาแก้โรคผิวหนังบางชนิด และถ้าบริสุทธิ์พอก็ใช้กินได้

 

รูปภาพจาก:matichon.co.th,indiamart.com,สมุนไพร