สมุนไพรน้ำเต้า

สมุนไพรน้ำเต้า

น้ำเต้า Lagenaria siceraria Standl.
ชื่อพ้อง L. leucantha Rusby L. vulgaris Ser.
บางถิ่นเรียกว่า น้ำเต้า (กลาง) คิลูส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะน้ำเต้า (เหนือ).

ไม้เถา มีกลิ่นอย่างชะมด ลำต้นแข็งแรง เป็นร่อง มีขน ที่ปลายขนมีต่อม มือเกาะมันแยกเป็น 2 แขนง. ใบ เดี่ยว เรียงสลับกัน ก้านใบยาว 5-30 ซม. มีต่อมเทียม 2 ต่อม อยู่ตรงรอยต่อระหว่างก้านใบกับแผ่นใบ แผ่นใบรูปไข่กว้าง มีขนาดกว้าง และยาว 10-30 ซม. โคนใบรูปหัวใจกว้าง ๆขอบใบหยักแบบซี่ฟัน ไม่มีแฉก หรือบางทีมี 3-7 แฉก หรือ ขอบใบเป็นคลื่น ปลายใบมน มีติ่งแหลม ด้านใต้ใบมีขนนุ่มสีขาว. ดอก ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ มีอายุสั้นมาก ดอกเพศเมีย และดอกเพศผู้อยู่บนต้นเดียวกัน. ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว 5-25 ซม. กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๆ 5 แฉก ยาว 1-1.5 ซม. กลีบดอก 5 กลีบ ไม่ติดกัน รูปไข่กลับ กว้าง 2-4 ซม. ยาว 2.5-5 ซม. สีขาวมีขน เกสรผู้ 3 อัน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูสีขาว อยู่ชิดกัน. ดอกเพศเมีย ก้านดอกสั้น และแข็งแรง ยาว 2-5 ซม. ก้านจะยาวขึ้น เมื่อรังไข่เจริญเติบโตไปเป็นผล ไม่มีเกสรผู้เทียม รังไข่ยาว 2.5-3 ซม. มีขนสีขาว ท่อรังไข่สั้น ปลายแยกเป็นแฉก ๆ 10 แฉก. ผล มีรูปร่าง และขนาดต่าง ๆ กัน ตามพันธุ์ เช่น กลม แบน รูปขวด หรือ รูปกระบอง ยาว 10-100 ซม. โคนขั้วคอดคดงอ หรือขดเป็นวง เปลือกแข็ง และทนทาน. เมล็ด จำนวนมาก แบน มีสันยาวถึง 2 ซม. สีขาว หรือ น้ำตาลอ่อน.

นิเวศน์วิทยา : น้ำเต้าเป็นพืชที่ปลูกกันมาแต่โบราณกาล ปลูกแพร่หลายมากในเขตร้อน และใกล้เขตร้อน ชอบดินที่ค่อนข้างแห้ง.

สรรพคุณ : ราก น้ำต้มราก กินแก้อาการบวมน้ำตามร่างกาย. ใบ ใบอ่อนกินได้ เป็นยาระบาย น้ำต้มใบกับน้ำตาล กินแก้โรคดีซ่าน. ผล กินได้ มีวิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด เป็นยาเย็น ระบาย และขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ กินมาก ๆ ทำให้อาเจียนได้ โคนขั้วผล กินแก้ปวดท้องที่เกิดจากไข้ น้ำต้มผล ใช้สระผมได้ ส่วนเปลือกผล ใช้สุมหัวทารก เพื่อลดไข้. เมล็ด กินเป็นยาขับพยาธิ และแก้อาการบวมน้ำ น้ำมันเมล็ดใช้ทาศีรษะ แก้อาการผิดปกติทางประสาทบางประเภท และกินทำให้อาเจียน

 

รูปภาพจาก:daum.net,smonpaiasia.blogspot.com,สมุนไพร