สมุนไพรแตงกวา

สมุนไพรแตงกวา

แตงกวา Cucumis sativus Linn.
บางถิ่นเรียก แตงกวา (ทั่วไป) ตาเสาะ (เขมร) แตงขี้ไก่ แตงขี้ควาย แตงช้าง แตงร้าน (เหนือ) แตงปี แตงยาง (แม่ฮ่องสอน) แตงเห็น ตงอ้ม (เชียงใหม่).

  ไม้เถา ลำต้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนแข็ง มือเกาะไม่ยกแขนง. ใบ เดี่ยว เรียงสลับกัน รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาว 7-20 ซม. มี 3-5 เหลี่ยม หรือ เว้าตื้น ๆ เป็น 3-5 แฉก ปลายใบแหลม ขอบใบหยักแบบซี่ฟัน โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ มีเส้นใบออกจากฐาน 5-7 เส้น ก้านใบยาว 5-15 ซม. ดอก ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมีย หรือ ดอกสมบูรณ์เพศอยู่บนต้นเดียวกัน. ดอกเพศผู้ ออกเป็นกระจุกที่ง่ามใบ ก้านดอกเล็ก กลีบรองกลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกแคบ ๆ 5 แฉก ยาว 5-10 มม. กลีบดอกสีเหลือง บานเต็มที่กว้าง 3-4 ซม. ยาว 2 ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ย่น และมีขน เกสรผู้ 3 อัน ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูติดอยู่ด้านนอก เนื้อที่อยู่ระหว่างอับเรณูหนา. ดอกเพศเมีย กลับรองกลีบดอก และกลีบดอก มีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่มี 3 ช่อง ท่อเกสรเมียมี 1 อัน ปลายแยกเป็นแฉกหนา 3 แฉก. ผล มีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันมาก เช่นเกือบกลม รูปขอบขนาน และยาว ห้อยลง ผลอ่อนมีตุ่มเล็ก ๆ กระจายทั่วไป สีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม ผลแก่สีเหลือง หรือ เหลืองอมน้ำตาล. เมล็ด มีจำนวนมาก รูปไข่ หรือ รี แบน กว้าง 3-5 มม. ยาว 8-10 มม. สีขาว.

นิเวศน์วิทยา : มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย ปัจจุบันปลูกแพร่หลายทั่วโลกมีพันธุ์ต่าง ๆ หลายพันธุ์ด้วยกัน.

สรรพคุณ : ราก น้ำต้มราก กินเป็นยาขับปัสสาวะ และป้องกันการขาดวิตามินบี 1 ต้น ยอดอ่อนกินได้ใบ คั้นน้ำให้เด็กกิน เป็นยาทำให้อาเจียน แก้ท้องเฟ้อ  ผล กินได้ มีคุณค่าทางอาหารน้อย แต่ให้ธาตุเหล็ก แคลเซี่ยม และวิตามินอื่น ๆ มาก มีคุณสมบัติเป็นยาเย็น ยาระบายอย่างอ่อน บำรุงธาตุ และขับปัสสาวะ ผลแก่คว้านเอาเมล็ดออก แล้วใส่สารส้มเข้าไปแทนและเผาไฟให้สุก แล้วคั้นน้ำ กินแก้นิ่ว และขัดเบา ตำเป็นยาพอกภายนอก แก้อักเสบ เป็นยาเย็น และทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม  น้ำคั้นผลใช้ลอกฝ้า และกินแก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เมล็ด กินเป็นยาเย็น ขับปัสสาวะ และบำรุงร่างกาย

 

รูปภาพจาก:youtube.com,home.kapook.com