สมุนไพรผักคราด

สมุนไพรผักคราด

ผักคราด Spilanthes acmella (Linn.) Murr.
บางถิ่นเรียก ผักคราด ผักคราดหัวแหวน (ภาคกลาง) ผักตุ้มหู (ภาคใต้) ผักเผ็ด(ภาคเหนือ) อึ้งฮวยเกี้ย อึ้งฮวยเกี๊ย (จีน)

ไม้ล้มลุก อายุหนึ่งปี ลำต้นแตกกิ่งก้าน ตั้งตรง สูงถึง 30 ซม. หรือ มากกว่านี้. ใบ รูปไข่ หรือ รูปหอกแกมรูปไข่ กว้าง 1-2.5 ซม. ยาว 2-4 ซม. ปลายแหลม โคนสอบแคบ ขอบใบเรียบ หรือ จักเป็นฟันเลื่อยหยาบ ๆ เส้นใบมี 3 เส้นออกจากโคนใบ ก้านใบยาว 1-2 ซม. ดอก อัดแน่นเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 8 มม. ออกเดี่ยว ๆ หรือ เป็นช่อ ก้านดอกเรียว ยาว 2.5-15 ซม. ริ้วประดับมี 2 ชั้น รูปหอกแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 6 มม. เกลี้ยง ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย มี 1วง กลีบดอกเป็นรูปรางน้ำ ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นรูปท่อ ปลายแยกเป็น 4-5 แฉก. ผล แห้ง ยาวประมาณ 3 มม. มี 3 สัน ปลายเว้าเป็นแอ่งเล็กน้อย ระยางค์เป็นหนาม 1-2 อัน.

นิเวศน์วิทยา : พบขึ้นทั่วไปในที่ราบโล่งแจ้ง ชอบขึ้นตามที่ชื้นแฉะ.

สรรพคุณ : ทั้งต้น มีฤทธิ์เป็นยาชา ใช้ฆ่าตัวอ่อนยุง ใช้เบื่อปลา แก้โรคบิด เลือดออกตามไรฟัน ต้มถูเหงือกแก้ปวดฟัน ชงดื่มเป็นยาขับปัสสาวะในรายที่เป็นนิ่ว แก้ไอระงับหอบ ไอหวัด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอกรน ปวดบวม ไขข้ออักเสบ งูกัด สุนัขกัด ใช้ทาแผลโรคผิวหนัง. ใบ แก้ปวดหัว โรคโลหิตเป็นพิษ ดอก เป็นยากระตุ้น  ขับน้ำลาย แก้โรคลิ้นเป็นอัมพาต โรคคอ ปวดฟัน รำมะนาด โรคติดอ่างในเด็ก รักษาแผลในปาก เมล็ด เคี้ยวเพื่อสร้างน้ำลายเมื่อปากแห้ง ราก น้ำต้มใช้เป็นยาถ่าย อมบ้วนปาก แก้อาการอักเสบในช่องปากและเจ็บคอ  เคี้ยวแก้ปวดฟัน

 

รูปภาพจาก:pstip.com,market.bansuanporpeang.com,สมุนไพร