สมุนไพรขลู่

สมุนไพรขลู่

ขลู่  Pluchea indica (Linn.) Less.
บางถิ่นเรียก ขลู่ (ภาคกลาง) ขลู (ภาคใต้) หนวดงั่ว หนวดงิ้ว หนาดงัว หนาดวัว (อุดรธานี) หล่วงไซ (แต้จิ๋ว) หลวนซี (จีนกลาง)

  ไม้กึ่งพุ่ง สูง 0.5-2 ม. แตกกิ่งก้านมาก เกลี้ยง. ใบ มีกลิ่นฉุน รูปไข่กลับ กว้าง 1-5.5 ซม. ยาว 2.5-9 ซม. ปลายใบแหลม หรือ แหลมมีติ่งสั้น โคนใบสอบแคบ ขอบใบจักเป็นซี่ฟันแหลม เนื้อใบคล้ายกระดาษ ค่อนข้างเกลี้ยง ไม่มีก้านใบ. ดอก สีม่วง เป็นกระจุกเล็ก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด และตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว 5-6 มม. ไม่มีก้านดอก ริ้วประดับแข็ง สีเขียว เรียงเป็น 6-7 วง วงนอกรูปไข่ วงในรูปหอกแคบปลายแหลม ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย กลีบดอกยาว 3-3.5 มม. ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นรูปท่อ ยาว 4-6 มม. ปลายจักเป็นซี่ฟัน 5-6 ซี่ อับเรณูโคนเป็นรูปหัวลูกศรสั้น ๆ ท่อเกสรเมียปลายมี 2 แฉกสั้น ๆ. ผล แห้ง รูปทรงกระบอก ยาว 0.7 มม. มี 10 สัน ระยางค์มีน้อย สีขาว ยาว 4 มม. แผ่กว้าง.

นิเวศน์วิทยา : ชอบขึ้นตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ริมห้วยหนอง ตามหาดทราย ด้านหลังป่าชายเลน มักนิยมปลูกเป็นพืชสมุนไพร.

สรรพคุณ : ทั้งต้น เป็นยาขับปัสสาวะ แก้วัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง ช่วยย่อย แก้โรคเบาหวาน ริดสีดวงทวาร ขูดเอาผิวต้นผสมกับยาสูบ มวนสูบแก้ริดสีดวงจมูก ใบ ต้มน้ำดื่มแทนชาเพื่อลดน้ำหนัก แก้ปวดเมื่อย มุตกิด และต้มน้ำอาบบำรุงประสาท เป็นยาบีบมดลูก น้ำคั้นแก้โรคบิด ตำผสมเกลือกินแก้ปากเหม็น ระงับกลิ่นตัว ใบและราก เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ขับเหงื่อ พอกแก้แผลอักเสบ ทำเป็นขี้ผึ้งทาแผลเรื้อรัง ผสมกับสมุนไพรอื่นต้มน้ำอาบแก้เส้นตึง ใบและต้นอ่อน ตำผสมกับแอลกอฮอล์ทาหลังบริเวณเหนือไตแก้ปวดเอว ทาแก้ปวดในโรคไขข้ออักเสบ ต้มน้ำอาบแก้โรคหิด ขี้เรื้อน แก้ประดง เลือดลม

 

รูปภาพจาก:hfocus.org,chakloomadeinthai.blogspot.com,สมุนไพร