สมุนไพรผักบุ้งร่วม

สมุนไพรผักบุ้งร่วม

ผักบุ้งร่วม Enydra fluctuans Lour.
บางถิ่นเรียก ผักบุ้งร่วม (ภาคกลาง) กาล่อ (มาเลย์-ปัตตานี) ผักดีเหยียน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ผักบุ้งปลิง ผักแป๋ง (เชียงใหม่).

ไม้ล้มลุก  ลำต้นโค้งแล้วตั้งตรง สูง 0.15-1.00 ม. กลวง มีขนบาง ๆ หรือ เกลี้ยง มีรากออกตามข้อ มีกลิ่นหอม. ใบ ไม่มีก้านใบ ออกตรงข้ามกัน รูปขอบขนานแคบ กว้าง 3-16 มม. ยาว 2-10 ซม. ปลายใบกลมและมียอดมน โคนตัดใบ ขอบใบเรียบ หรือ จักเป็นฟันเลื่อยแกมซี่ฟัน สีเขียวสด มีต่อมเล็ก ๆ มีขนทั้งสองด้าน. ดอก เป็นกระจุกค่อนข้างกลม วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ไม่มีก้านดอก ออกเดี่ยว ๆ ที่ปลายยอด หรือ ตามง่ามใบ ริ้วประดับมี 4 อัน รูปไข่ กว้างประมาณ 8 มม. ยาว 10-12 มม. ปลายมน แบ่งเป็น 2 คู่ ตั้งได้ฉากกัน รูปร่างคล้ายใบ ขอบโค้งหุ้มดอกเอาไว้ เมื่อดอกบานจะใหญ่ขึ้น กลีบดอกสีขาวออกเขียว ดอกวงนอกเป็นดอกเพศเมีย กลีบดอกยาว 2-2.5 มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว แล้วแผ่เป็นรูปรางน้ำสั้น ๆ ปลายจักเป็นซี่ฟัน 2-4 ซี่ ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกยาว 3-4 มม. เป็นรูปท่อ ปลายจักเป็นซี่ฟัน 5 ซี่; เกสรผู้มี 5 อัน อับเรณูโคนเรียบ ปลายมน ปลายท่อเกสรเมียในดอกเพศเมียแยกเป็นแฉกค่อนข้างสั้น ในดอกสมบูรณ์เพศเรียบ. ผล แห้ง สีดำ ยาวประมาณ 3 มม. เกลี้ยง ล้อมรอบด้วยริ้วประดับ.

นิเวศน์วิทยา : ชอบขึ้นตามที่ชื้นแฉะ มักนิยมปลูกเป็นพืชกินได้.

สรรพคุณ : ทั้งต้น ต้มเอาควันรมคนเข้าประโจม แก้ฟกบวม เหน็บชา หรือ บวมทั้งตัว ต้นอ่อนเป็นยาเจริญอาหาร ระบาย. ใบ ตำพอกแก้โรคผิวหนัง เป็นยาระบาย แก้โรคเกี่ยวน้ำดี

 

รูปภาพจาก:halsat.com,hasbrouck.asu.edu,สมุนไพร