สมุนไพรหูกวาง

สมุนไพรหูกวาง

หูกวาง Terminalia catappa Linn.
บางถิ่นเรียก หูกวาง (ภาคกลาง) โคน (นราธิวาส) ดัดมือ ตัดมือ (ตรัง) ตาบัง (พิษณุโลก, สตูล) ตาแปห์ (มาเลย์-นราธิวาส) หลุมบัง (สุราษฎร์ธานี).

ไม้ต้น ขนาดกลาง สูง 10-35 ม. เส้นรอบวงถึง 100 ซม. ผลัดใบ เปลือกเรียบ เนื้อไม้สีน้ำตาล หรือ แดง กิ่งแตกเรียงเวียนรอบลำต้น และแผ่กว้างในแนวราบ, กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล เมื่อแก่เกลี้ยง. ใบ เป็นใบเดี่ยว, ออกเรียงเวียนสลับกัน จะหนาแน่นที่ตรงปลาย ๆ กิ่ง รูปไข่กลับ กว้าง 8-15 ซม. ยาว 12-25 ซม. ปลายใบกลม หรือ แหลมเป็นติ่งสั้น โคนใบรูปหัวใจแคบ โดยจะเริ่มสอบแคบมาจากกึ่งกลางใบ เนื้อใบหนามันคล้ายแผ่นหนัง เส้นใบมี 8-12 คู่ มีต่อม 1 คู่ ติดอยู่ใกล้ ๆ โคนของเส้นกลางใบทางด้านล่าง ก้านใบยาว 0.5-1.5 ซม. หนาแข็ง, มีขน. ดอก สีขาว ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ช่อดอกยาว 8-12 ซม. แบ่งเป็นดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศ ไม่มีก้านดอกย่อย ดอกเพศผู้มักอยู่ตอนปลาย ๆ ช่อ ดอกเพศเมียอยู่ที่โคนช่อ กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกัน ตอนล่างเป็นรูปท่อยาว 2-4 มม., มีขน, ตอนบนบานออกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ยาว 3 มม. ปลายแยกออกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ เกสรผู้มี 10 อัน ก้านเกสรผู้ยาว 2 มม., เกลี้ยง รังไข่มี 1 ช่อง ท่อเกสรเมียเกลี้ยง ยาว 2 มม. ดอก สีแดง, เหลือง หรือ เขียว รูปรี ค่อนข้างแบนทางด้านข้าง กว้าง 2-5 ซม., ยาว 3-7 ซม. เปลือกผลมีเส้นใย.

นิเวศน์วิทยา : ขึ้นกระจายตามชายฝั่งทะเลในเขตร้อน มักนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ผลัดใบปีละ 2 ครั้ง เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือ แดง ก่อนผลัด.

สรรพคุณ : ทั้งต้น เป็นยาสมาน แก้ไข้ ท้องร่วง บิด ยาระบาย ขับน้ำนม แก้โรคคุดทะราด ราก ทำให้ประจำเดือนมาปกติ. เปลือก เป็นยาขับลม สมาน แก้ท้องเสีย, ตกขาว โรคโกโนเรีย ใบ เป็นยาขับเหงื่อ แก้ทอนซิลอักเสบ โรคไขข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารและตับ ใบที่แดง เป็นยาขับพยาธิ  ผสมกับน้ำมันจากเนื้อในเมล็ด รักษาโรคเรื้อน ทาหน้าอกแก้อาการเจ็บหน้าอก ทาไขข้อและส่วนของร่างกายที่หมดความรู้สึก ผล เป็นยาถ่าย

 

รูปภาพจาก:dusit.ac.th,puechkaset.com,สมุนไพร