สมุนไพรกระทงลาย

สมุนไพรกระทงลาย

กระทงลาย Celastrus paniculatus Willd.
บางถิ่นเรียก กระทงลาย. กระทุงลาย โชด (ภาคกลาง) นางแตก (นครราชสีมา) มะแตก มะแตก-เครือ มักแตก (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ).

ไม้พุ่มเลื้อย สูง 2-10 ม. เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง. ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับกัน รูปรี รูปขอบขนานแกมรูปรี รูปไข่ รูปเกือบกลม หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-6 ซม. ยาว 5-15 ซม. ปลายใบแหลม หรือ มน บางครั้งพบเว้าเป็นแอ่ง โคนใบสอบแคบ หรือ มน หรือ กลม ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย, ผิวใบเกลี้ยง บางครั้งมีขนนุ่มด้านล่างโดยเฉพาะบนเส้นใบ เส้นใบมี 5-8 คู่ ก้านใบยาว 0.5-1.5 ซม. ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด, ช่อดอกยาว 5-10 ซม. บางครั้งยาวถึง 20 ซม. บางทีมีขนนุ่มเมื่ออ่อนอยู่ ก้านช่อยาว 6-10 มม. ก้านดอกย่อยยาว 1.5-3.5 มม., แยกเป็นดอกเพศผู้และดอกเพศเมีย และมักจะอยู่คนละต้นกัน ดอกเพศผู้ กลีบรองกลีบดอก มี 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายกลีบแยกออกเป็นพู รูปค่อนข้างกลม ขนาดประมาณ 1 มม. มีขนสั้น กลีบดอกรูปขอบขนาน หรือ รูปขอบขนานแกมรูปไข่, กว้าง 1-1.5 มม. ยาว 2.5-3 มม.  ปลายมน ขอบเรียบ ฐานดอกเป็นรูปถ้วยนูน เกสรผู้มี 5 อัน ยาวประมาณ 3 มม. อับเรณูรูปไข่ เกสรเมียที่เป็นหมันยาวประมาณ 1 มม., ดอกเพศเมีย กลีบรองกลีบดอกและฐานดอกที่นูนขึ้นเป็นจานเหมือนในดอกเพศผู้ เกสรผู้ที่เป็นหมันยาวประมาณ 1 มม., เกสรเมียยาว 2-2.5 มม. รังไข่กลม ยอดเกสรเมียมี 3 พู. ผล ค่อนข้างกลม กว้าง 5-8 มม. ยาว 5-10 มม. ที่ปลายมียอดเกสรเมียติดอยู่ เมื่อแก่แตกออกตามจำนวนห้องซึ่งมีอยู่ 3 ห้อง. เมล็ด รูปรี มี 3-6, กว้าง 2-3 มม., ยาว 3.5-5 มม. มีเนื้อหุ้มเมล็ดสีแดง.

นิเวศน์วิทยา : พบตามป่าดิบ และป่าเบญจพรรณชื้นทั่ว ๆ ไป ตั้งแต่ความสูง 200-1,800 ม.

สรรพคุณ : ใช้เป็นยาแก้ไข้มาเลเรีย วัณโรค. เปลือก เป็นยาทำให้แท้ง ใบ แก้โรคบิด ถอนพิษฝิ่น กระตุ้นประสาท ผล แก้ลมจุกเสียด พิษงู บำรุงโลหิต เมล็ด พอก หรือ รับประทาน แก้โรคปวดตามข้อกล้ามเนื้อและอัมพาต แก้ไข้ น้ำมันจากเมล็ด แก้โรคเหน็บชา ขับเหงื่อ

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,qsbg.org,สมุนไพร