ผึ้ง
ผึ้ง
ผึ้งเป็นแมลงที่พบในไทยมากมายหลายชนิด แต่ผึ้งที่ให้น้ำหวานกินได้นั้นจัดอยู่ในสกุล Apis ในวงศ์ Apidae ผึ้งมีส่วนสำคัญต่อการผสมเกสรของพืช ซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม และมีความสัมพันธุ์กับมนุษย์มากที่สุด ผึ้งที่มีการเลี้ยงกันเป็นแมลงอาสิน (economic insect) เป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apis mellifera Linnaeus ชื่อชนิด mellifera แปลว่ามีน้ำผึ้งอยู่ (คำ mel ในภาษาละตินแปลว่าน้ำผึ้ง)
ผึ้งที่ให้น้ำหวานและพบในประเทศไทยมีอยู่ ๕ ชนิดเป็นผึ้งพื้นเมืองของไทย ๔ ชนิด และเป็นผึ้งที่นำเข้ามาเลี้ยงในไทยอีก ๑ ชนิด ผึ้งทั้ง ๕ ชนิดนั้น ได้แก่
-
ผึ้งหลวง หรือ ผึ้งเขา ชนิดนี้
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apis dorsata Febricius(มีชื่อพ้อง Apis zonata Smith)
มีชื่อสามัญว่า giant honey bee
มีถิ่นกำเนิดในซีกโลกตะวันออก เป็นผึ้งที่มีขนาดตัวและขนาดรังใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับผึ้งชนิดอื่นที่พบในประเทศไทย ลักษณะรังเป็นแบบชั้นเดียว รูปครึ่งวงกลม ไม่มีที่ปกปิด ขนาดวัดผ่านศูนย์กลางของรังราว ๕0-๑ เมตร ผึ้งหลวงให้น้ำผึ้งมากที่สุด คนไทยนิยม บริโภคน้ำผึ้งหลวงมากกว่าบริโภคจากผึ้งชนิดอื่นๆ ผึ้งหลวงมีพฤติกรรมดุกว่าผึ้งหลายชนิด ชอบทำรังในที่โล่งแจ้งมักทำรังบนต้นไม้สูงๆ หรือภายนอกบ้านเรือน หรือตามหินผา จึงไม่เหมาะที่จะเลี้ยงในอุตสาหกรรมใหญ่ผึ้งหลวงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นไปถึงภาคใต้ของจีน พม่า ศรีลังกา และไปสิ้นสุดที่ภาคตะวันออกของอินเดีย
-
ผึ้งมิ้ม
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apis florea Febricius
มีชื่อสามัญว่า little honey bee
เป็นผึ้งที่มีขนาดตัวและขนาดรังเล็ก ลักษณะของรังเป็นแบบชั้นเดียว ขนาดวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของรังราว ๒0 เซนติเมตร จึงไม่มีประโยชน์นำมาเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจ ผึ้งมิ้มมักทำรังบนต้นไม้และในซุ้มไม้ที่ไม่สูง ตามปรกติเป็นที่ทีมีซุ้มไม้หรือกิ่งไม้ปกปิด เพื่อป้องกันภัย ผึ้งชนิดนี้พบได้ในประเทศไทยและทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นไปถึงภาคใต้ของจีน พม่า อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน จนถึงโอมาน คนในประเทศเหล่านี้บริโภคน้ำผึ้งจากผึ้งมิ้มกัน ชาวบ้านในอินเดียและโอมานจะตัดรังผึ้งมิ้มมาเลี้ยง และคอยเอาน้ำผึ้งจากรังในฤดูเก็บเกี่ยว แต่การตัดรังผึ้งมิ้มมาเลี้ยงแบบนี้ ผึ้งมิ้มจะไม่อยู่นาน ส่วนใหญ่ทิ้งรังไปเมื่อขาดแคลนอาหาร
-
ผึ้งโพรง หรือ ผึ้งโก๋น
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apis cerana Febricius(มีชื่อพ้อง Apis indica Fubricius)
มีชื่อสามัญว่า eastern honey bee
เป็นผึ้งที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง ชอบทำรังในโพรงไม้ กระบอกไม้ หรือ อาคารบ้านเรือนที่มิดชิดและมืด เช่น ใต้หลังคาบ้าน ลักษณะของรังเป็นแบบหลายๆชั้น เรียงขนานกัน มีขนาดวัดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๓0 เซนติเมตร ผึ้งชนิดนี้เหมาะสำหรับนำมาเลี้ยงเช่นเดียวกับผึ้งเลี้ยง นิยมเลี้ยงกันมากในประเทศจีน เนื่องจากให้ผลผลิตสูงและไม่ทิ้งรังง่าย ผึ้งโพรงมีเขตการกระจายพันธุ์ในทุกประเมศของทวีปเอเชียจึงรู้จักกันทั่วไปมนชื่อสามัญว่า Asian honey bee จัดเป็นผึ้งที่เลี้ยงเชิงในอุตสาหกรรมที่สำคัญของทวีปเอเชีย
-
ผึ้งมิ้มเล็ก
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apis andreniformis Smith
มีชื่อสามัญว่า small dwarf honey bee
เป็นผึ้งที่มีขนาดตัวและขนาดรังเล็กที่สุดในโลก พบครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔0๑ ในซาราวัก บอร์เนียว และแหลมมลายู มีรายงานการพบคล้ายคลึงกับผึ้งมิ้ม ในประเทศไทยพบผึ้งมิ้มเล็กนี้ในเขตภูเขาของจังหวัดจันทบุรี อุทัยธานี และเชียงราย มักพบในบริเวณที่มีผึ้งมิ้ม แต่พบผึ้งมิ้มเล็กในปริมาณที่น้อยกว่ามาก
-
ผึ้งเลี้ยง หรือ ผึ้งฝรั่ง หรือ ผึ้งพันธุ์ (common honey bee หรือ European honey bee)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Apis mellifera Linnaeus
มีชื่อสามัญว่า common honey bee หรือ European honey bee
ชนิดนี้เป็นผึ้งที่เลี้ยงกันทั่วไป เดิมมีถิ่นกำเนิดในซีกโลกตะวันตก ปัจจุบันมีเลี้ยงกันทั่วโลก สันนิษฐานว่าผึ้งเลี้ยงมีวิวัฒนาการมาจากผึ้งโพรง เพราะมีถิ่นกำเนิดแถบรอยต่อทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย บริเวณที่ใกล้กับทวีปอินเดีย ต่อมาจึงแพร่กระจายพันธุ์เข้าไปในยุโรปและปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ดี จึงกลายเป็นผึ้งพื้นเมืองของยุโรปและแอฟริกาในที่สุด ผึ้งรังที่มีขนาดใหญ่กว่วผึ้งโพรง แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง มีความยาวของลำตัวราว ๘-๑0 มิลลิเมตร มีความกว้างและส่วนอกราว ๔ มิลลิเมตร มีพฤติกรรมการทำรังเรียงซ้อนกันเป็นชั้นเหมือนผึ้งโพรง นิสัยไม่ดุร้าย สามารถสะสมน้ำผึ้งได้ในปริมาณมาก ทั้งยังมีขนาดรังที่เหมาะสำหรับการนำมาเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ จึงมีการเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมทั่วโลก
ชีววิทยาของผึ้งเลี้ยง
ชีววิทยาของผึ้งในสกุล Apis ทุกชนิดคล้ายๆกัน แต่นักวิทยาศาสตร์เข้าใจชีววิทยาของผึ้งเลี้ยงที่ดีที่สุด เนื่องจากมีการศึกษากันมานาน จึงใช้ชีววิทยาของผึ้งเลี้ยงอธิบายสังคมของผึ้งโดยทั่วๆไป ผึ้งเป็นแมลงที่เป็นสัตว์สังคม มีการจัดระบบระเบียบการควบคุมและการจัดสรรภาระหน้าที่ของสมาชิกในสังคมอย่างชัดเจน ในรังผึ้งหนึ่งๆ มีผึ้งอยู่ราว ๑0000-๕0000 ตัว แบ่งเป็นผึ้ง ๓ ประเภท คือ ผึ้งนางพญา ผึ้งงาน และผึ้งตัวผู้ ดังนี้
-
ผึ้งนางพญา (queen bee) ในรังผึ้งแต่ละรังมีนางพญาผึ้งเพียงตัวเดียวนาวพญาผึ้งนี้ทำหน้าที่แพร่พันธุ์ เพาะลูกอ่อนให้เจริญเติบโตเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ นางพญาผึ้งมีลำตัวยาวรี มีปีกสั้นกว่าลำตัว มีสีสันเด่นกว่าผึ้งงานและผึ้งตัวผู้ ก่อนตายจะมีการเปลี่ยนนางพญาผึ้งใหม่ ผึ้งนางพญามีชีพจรในระยะเป็นไข่ ๓ วัน ระยะตัวหนอน ๗ วัน และระยะดักแด้ ๖ วัน มันถูกป้อนด้วยอาหารพิเศษโดยเฉพาะซึ่งผึ้งงานสร้างเอาไว้ให้ ที่เรียก นมผึ้ง (royal jelly) เมื่อนางพญาผึ้งมีอายุได้ ๗-๑0 วัน ก็จะบินจากรังไปผสมพันธุ์กับตัวผู้กลางอากาศ แล้วกลับมาเพื่อวางไข่การผสมพันธุ์ราว ๓-๗ วัน โดยวางขาคราวละ ๒000-๓000 ฟอง จนหมดอายุ นอกจากนั้นนางพญาผึ้งยังทำหน้าที่ควบคุมรัง ให้ตัวผึ้งในรังทำหน้าที่ปรกติตามธรรมชาติของผึ้ง ทำโดยการผลิตฮอร์โมนที่เป็นสารเคมีที่มีกลิ่น (insect pheromone) นางพญาผึ้งนี้มีอายุได้ ๔-๕ ปี
-
ผึ้งงาน (working bee) เป็นผึ้งตัวเมียที่ไม่สมบูรณ์ (imperfect female) มีจำนวนมาก เป็นประชากรมากที่สุดในผึ้งรังหนึ่งๆ มีขนาดลำตัวเล็กที่สุดในรัง ผึ้งงานเป็นผึ้งพรหมจรรย์ ไม่มีการผสมพันธุ์ ผึ้งงานมีนิสัยหวงผึ้งนางพญามาก ผึ้งงานทำหน้าที่เปลี่ยนไปตามอายุ ชีพจรของผึ้งงานในระยะเป็นไข่ในระยะเป็นไข่และระยะตัวหนอนนั้นเหมือนกับนางพญาผึ้ง แต่มีระยะดักแด้ยาวกว่า คือมีระยะดักแด้ ๑๑ วัน จากนั้นจึงเจริญเป็นผึ้งงาน ผึ้งงานที่มีอายุ ๑-๓ วัน มีหน้าที่ทำความสะอาดรัง เมื่อมีอายุ ๔-๑0 วัน มีหน้าที่ปรุงอาหารและให้อาหารเลี้ยงตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยให้ดินเกสรดอกไม้และน้ำหวาน เมื่อผึ้งงานมีอายุ ๑๒-๑๖ วัน จะมีหน้าที่ผลิตขี้ผึ้งเพื่อสร้างและซ่อมแซมรัง เมื่อผึ้งงานมีอายุ ๑๗-๒๑ วัน จะทำหน้าที่ป้องกันรัง ต่อยศัตรูเรียนรู้และสำรวจพื้นที่ตั้งรังผึ้ง และเมื่อผึ้งงานมีอายุ ๒๒ วันขึ้นไปจะทำหน้าที่หาอาหารมาเลี้ยงผึ้งในรัง โดยที่จะออกไปดูดน้ำต้อยและเกสรของดอกไม้ น้ำ และ ยางไม้ ผึ้งงานสามารถบินออกจากรังได้ในรัศมี ๓-๕ กิโลเมตร แล้วเอามาเก็บไว้ในรวงผึ้งจนสิ้นอายุ เนื่องจากผึ้งรังต้องทำงานหนัก จึงมีอายุค่อนข้างสั้น หรือราวเดือน ๑๕-๙0 วันเท่านั้น ผึ้งงานที่เกิดมาพิการจะถูกสังคมผึ้งทอดทิ้งหรือขับออกจากรัง เพราะไม่สามารถทำงานให้กับสังคมผึ้งได้
น้ำต้อยหรือน้ำหวานที่ผึ้งงานดูดจากดอกไม้ไปนั้นส่วนมากเป็นน้ำตาลทราย (sucrose) เมื่อผ่านลำคลองของผึ้งแล้วจะถูกน้ำย่อยแปร (invertase) ซึ้งมีอยู่ในน้ำลายผึ้งย่อยให้เป็นน้ำตาลแปร (invest sugar) คือ น้ำตาลองุ่น (DEXTROSE) กับน้ำตาลผลไม้ (fructose) ก่อนที่จะถูกส่งไปเก็บในถุงน้ำผึ้ง (honey sac) ในตัวผึ้ง ในรวงผึ้งจะแบ่งพื้นที่เป็น ๒ ตอน ตอนบนเป็นที่เก็บสะสมน้ำผึ้ง ส่วนตอนล่างเป็นที่อยู่อาศัย
-
ผึ้งตัวผู้ (drone) มีลักษณะโตที่สุดในรัง ตาโต มีขนตามลำตัว และมีปีกยาวมาก ทำหน้าที่ผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งเท่านั้น และอยู่ในรังผึ้งเป็นครั้งคราวเฉพาะช่วงผสมพันธุ์ ชีพจักรของผึ้งตัวผู้นั้นอยู่ในระยะเป็นไข่ ๓ วัน ระยะตัวหนอน ๙ วัน และระยะดักแด้อีก ๑๒ วัน ผึ้งตัวผู้โตเต็มวัยพร้อมที่จะทำหน้าที่ผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ ๑๖ วัน ขึ้นไป ผึ้งตัวผู้ตัวหนึ่งๆ ผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งได้เพียงครั้งเดียว เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้วจะตายในทันที มนรังหนึ่งๆ มีจำนวนผึ้งตัวผู้ไม่แน่นอน แต่จะมีมากในฤดูผสมพันธุ์ ผึ้งตัวผู้ไม่ออกหาอาหาร เพราะหาอาหารไม่เป็น หากไม่ได้ผสมพันธุ์หรือไม่มีประโยชน์อีกแล้ว ก็อาจถูกกำจัดออกรังโดยผึ้งงาน
ผลิตภัณฑ์จากผึ้งเลี้ยง
-
น้ำผึ้ง (honey) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการบีบหรือคั้นเอาจากรังผึ้ง แล้วนำมากรองผ่านตะแกรงและผ้ากรอง ตั้งทิ้งไว้จนหมดฟองอากาศ ถ้าน้ำผึ้งที่ได้น้ำมากให้เอามาอุ่น ที่ ๖๕ องศา นานครึ่งถึง ๑ ชั่วโมง เพื่อให้น้ำระเหนออกไปลางส่วน น้ำผึ้งที่ดีควรมีน้ำอยู่เล็กน้อย เมื่อใช้ไม้จิ้มขึ้นมา จะไหลหยดเป็นสายบางไม่ขาดสาย ลงมาพับกองเป็นชั้นๆ ก่อนที่จะรวมเป็นเนื้อเดียวกันอีก
น้ำผึ้งที่ดีควรมรความถ่วงจะเพาะระหว่าง ๑.๓๕๘ – ๑.๓๖๑ เมื่อยังใหม่อยู่จะใสหมือนน้ำเชื่อม มีสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลปนแดง มีกลิ่นหอมเฉพาะ ระคนกับกลิ่นของดอกไม้ที่ผึ้งไปเก็บน้ำต้อยมา เมื่อเก็บไว้นานเข้าจะมีผลึกของน้ำตาลองุ่นเกิดขึ้น
ในน้ำผึ้งมีองค์ประกอบน้ำตาลแปรอยู่ราวร้อยละ ๕0 – ๙0 มีน้ำตาลทรายอยู่ราวร้อยละ 0.๑ – ๑0 นอกจากนั้นยังมีวิตามินต่างๆ หลายอย่าง เช่น วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๒ วิตามินบี ๖ วิตามินซี น้ำผึ้งที่ดีควรมีน้ำอยู่ราวร้อยละ ๑๗-๒0 ไม่ควรมากกว่าร้อยละ ๒0 น้ำผึ้งใช้เป็นทั้งอาหารและยา ใช้เป็นน้ำกระสายยา ใช้ผสมกับผงยาเพื่อปั้นเป็นยาลูกกลอน ใช้ทาแผล และกินเป็นยาบำบัดโรค โบราณยังใช้แช่อวัยวะไม่ให้เน่าเปื่อย
-
ขี้ผึ้ง (beeswax) เป็นรังผึ้งที่เหลือจากการแยกน้ำผึ้งออกไปแล้ว นำมาต้มกับน้ำจนน้ำผึ้งหลอมหมด ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ขี้ผึ้งจะแข็งตัวลอยอยู่ชั้นบน สิ่งสกปรกจะละลายและตกตะกอนอยู่ชั้นน้ำ แยกเอาขี้ผึ้งที่แข็งตัวให้หลอมใหม่ ช้อนเอาสิ่งสกปรกที่เบากว่าออก ตักส่วนที่สะอาดมาใส่ภาชนะ ทิ้งไว้ให้เย็น จะได้ขี้ผึ้งสีเหลือง (Yellow beeswax) ถ้าต้องการขี้ผึ้งสีขาว (white beeswax) ให้ฝานขี้ผึ้งสีเหลืองเป็นแผ่นบางๆ หรือใช้หลอมขี้ผึ้งให้ละลาย แล้วเทลงในน้ำเย็น ให้ขี้ผึ้งเป็นแผ่นบางๆเล็กๆ แล้วนำไปตากแดดตากน้ำค้างราว ๑00 กว่าวัน สีจะขาวขึ้น นำขี้ผึ้งมาหลอมรวมกัน เทใส่พิมพ์เป็นก้อนหรือเป็นแผ่น เก็บไว้ในภาชนะเก็บมิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่นหรือสิ่งสกปรกลงไปปน เก็บไว้ในที่เย็น ขี้ผึ้งที่ดีควรเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน หักได้ง่าย รอยหักไม่เงียบ เมื่อใช้มือถูหรือใช้นิ้วบี้ จะอ่อนตัว มีกลิ่นอ่อนๆเฉพาะตัว ไม่ละลาย ละลายในแอลกอฮอล์ได้เล็กน้อย ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ร้อน น้ำมันระเหยง่ายต่างๆ อีเทอร์และคลอโรฟอร์ม เป็นต้น
-
นมผึ้ง (royal jelly) เป็นของเหลวข้นสีขาว ขับออกมาจากต่อมน้ำลายของผึ้งงาน (คล้ายนมข้นหวาน) ใช้เป็นอาหารของนางพญาผึ้ง ในทางการค้า คนเลี้ยงผึ้งจะใช้ถ้วยพลาสติกขนาดใหญ่กว่าห้องเล็กๆในรังผึ้งเล็กน้อย วางไว้ในโครงรังใส่ไข่ผึ้งในพลาสติกนั้น ทำให้ผึ้งงานเข้าใจว่าจะเป็นที่เกิดนางพญาผึ้งตัวใหม่ ผึ้งงานจะมาคายนมผึ้งใส่ไว้จนเต็มถ้วย คนเก็บก็เก็บถ้วยพลาสติกนั้นไปเขี่ยแยกไข่ผึ้งออกเอานมผึ้งเก็บไว้ใช้ อีกวิธีหนึ่งอาจใช้จากห้องจะเป็นที่เกิดนางพญาผึ้งตัวใหม่ ซึ่งมีขนาดใหญ่กลมยาวผิดจากห้องอื่น เก็บยาแยกไข่ผึ้งออก เอานมผึ้งไว้ใช้ การใช้นมผึ้งเป็นยาต้องผสมให้เจือจางก่อนใช้ โดยผสมกับน้ำผึ้งก่อน เป็นต้น
นมผึ้งที่ได้มาต้องเก็บไว้ในที่เย็นและไม่ถูกแสง เพื่อจะได้เก็บไว้ได้นานขึ้น เพราะนมผึ้งเปลี่ยนแปลงได้ง่ายในอุณหภูมิห้อง นมผึ้งจะเปลี่ยนจากของเหลวข้นสีขาวเป็นนมผึ้งใหม่ๆเป็นรสหวานปร่า เก็บไว้รสจะเปรี้ยวขึ้นเรื่อยๆ
นมผึ้งมีรสเปรี้ยว สุขุม มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย โดยเฉพาะสำคัญผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยฟื้นไข้ แก้โรคตับอักเสบ แก้โรคความดันเลือดสูง แก้ปวดข้อ และแก้แผลที่ลำไส้เล็ก
-
เกสรผึ้ง (bee pollen) เป็นเกสรตัวผู้นานาชนิดที่ผสมอยู่ในน้ำผึ้ง เกสรตัวผู้ของดอกไม้เหล่านี้จะติดมากับขาหลังของผึ้งงาน เมื่อผึ้งเข้าไปดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ เกสรผึ้งนี้มีองค์ประกอบที่เป็นสารอาหารหลายอย่าง ที่พบในปริมาณสูง มีกรดแอมิโน กรดไขมัน เกลือแร่ชนิดต่างๆ เช่น เหล็ก สังกะสี ทองแดง วิตามินต่างๆ เช่น วิตามินดี วิตามินอี วิตามินบี ๑ วิตามินซี วิตามินเค
-
กาวชันผึ้ง (bee propolis) เป็นชันที่มีลักษณะเหนียวข้น มีกลิ่นหอมอ่อนๆ เป็นชันเป็นยางจากเปลือกไม้ของพืชหลายๆชนิด ที่ผึ้งเอามาผสมกับขี้ผึ้งเพื่อทำรังหรือซ่อมแซมรัง โดยเฉพาะใช้อุดรอยหรือยารั่วต่างๆของรวง กาวชันผึ้งนี้มีสานที่เป็นองค์ประกอบหลายอย่าง ที่สำคัญมีสารกาลาจิน (galagin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อ (antibiotic) สารกลุ่มปลาโวนอยด์และไอโซฟลาโวนอยด์หลายชนิด โดยเฉพาะสานที่แสดงฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (phytoestrogen) ตลอดจนสารอื่นๆอีกหลายชนิด
-
น้ำพิษผึ้ง (bee venom) เป็นน้ำพิษจากเหล็กในของผึ้งงานที่ปล่อยออกมาเมื่อผึ้งงานต่อย น้ำพิษผึ้งมีลักษณะใสเหมือนน้ำ มีรสขมจัด มีกลิ่นหอม (เหมือนกล้วยสุก) ละลายได้ดีในน้ำและในกรด ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ ทนความร้อนและความเย็นได้ดี องค์ประกอบเคมีเป็นสารพวกเพปไทด์ น้ำพิษผึ้งเป็นยาแก้ไขข้ออักเสบ (arthritis) และลมจับโปง (rheumatism) แก้หอบหืด เป็นต้น การใช้น้ำพิษผึ้งบำบัดโรคอาจให้ผึ้งต่อยตรงที่มีอาการโดยตรง หรือเก็บน้ำพิษผึ้ง แล้วเอามาเตรียมเป็นยาฉีด การเก็บน้ำผึ้งพิษนั้น อาจทำได้โดยใช้ผึ้งงานบินผ่านเส้นลวดที่มีกระแสไฟฟ้าไม่สูงนัก ผึ้งเหล่านั้นอาจตกใจ แล้วต่อยและปล่อยน้ำพิษอออกมา ให้เอาสำลีรองรับไว้
น้ำผึ้งเป็นทั้งอาหารและยา
น้ำผึ้งเป็นผลิตผลที่ได้จากรวงผึ้ง (beehive) ภาษาอังกฤษเรียก honey ภาษาละตินเรียก mel ภาษาสันสกฤตเรียก madhu (มธุ) คำ honey ในภาษาอังกฤษนี้อาจใช้ความหมายที่แปลว่าหวาน และใช้เป็นสรรพนามเรียกบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น สามี ภรรยา หรือ บุตร มีคำภาษาอังกฤษคำหนึ่ง คือ honeymoon ซึ่งในโบราณแปลไว้ถูกต้องแล้วเป็น มธุรสมาส แต่ปัจจุบันแปลผิดเป็นน้ำผึ้งพระจันทร์ ซึ่งไม่ให้ความหมายที่เข้าใจได้ ความหมายที่เข้าในได้ คำ มธุ แปลว่า น้ำผึ้ง (honey) ส่วนคำว่ามาสในความหมายหนึ่ง แปลว่า เดือนได้ คำ moon นี้ แปลว่าพระจันทร์หรือเดือนก็ได้ คำ honeymoon จึงควรแปลว่า เดือนแห่งความหวานชื่นดุจน้ำผึ้ง หรือ มธุรสมาส ไม่ใช่ น้ำผึ้งพระจันทร์ ในบ้านเราที่มีคุณภาพที่สุดเป็นน้ำผึ้งเดือนห้า คือราวเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนซึ่งเป็นฤดูแล้ง ไม่มีฝน น้ำผึ้งที่ได้จะข้นและมีน้ำอยู่น้อย
มนุษย์โลกรู้จักใช้น้ำผึ้งเป็นอาการมาแต่โบราณ ศิลาจารึก”โคลงภาพฤาษีดัดตน” ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อปีพ.ศ. ๒๕0๕ บันทึก “โคลงประกอบภาพฤาษีดัดตน” สำหรับ “แก้ขัดแข้งขัดขา” ดังนี้
ประกอบกับอิทธิพลของอายุรเวทจากอินเดียและการแพทย์แผนจีน ผสมผสานกันเป็นแพทย์แผนไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ สะท้อนภูมิปัญญาไทยที่ปราดเปรื่อง รู้จักเลือกใช้ของดีๆ ของต่างชาติประยุกต์เข้ากับของเดิม จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง คำโคลงนี้อธิบายที่มาของท่าดัดตนในภาพว่าเป็นดาบส (ปริพาชก) ชื่อ “โยฮัน (Johanus)” ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลทราย ที่ประเทศ “โยระดัน (Jordan)” ในโคลงบอกว่าดาบสผู้นี้กิน (ฉัน) “น้ำพึ่ง (น้ำผึ้ง)” กับ “ตั๊กแตน” ต่าง “เข้า (ข้าว)”
อย่างไรก็ตาม ผู้แปลว่า “ตั๊กแตน” คงจะแปลผิด เพราะคงไม่มีใครกิน “น้ำผึ้ง” กับ “ตั๊กแตน” แทนข้าว เข้าใจว่าผู้แปลคงจะแปล “ตั๊กแตน” จากคำ “locust” ซึ่งแปลว่า “ตั๊กแตน” ได้ แต่ในที่นี้ต้องแปลเป็น “คาร็อป (carob)” หรือ “ถั่วโลคัสต์ (locust bean)” อันเป็นเมล็ดของพืชในวงถั่ว (Leguminosae) ชนิดหนึ่ง มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Ceretonai siliqua L. เป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย นิยมกันมากในแถบนั้นและพืชที่ให้ของนี้ก็มีขึ้นทั่วไปในแถบนั้น อนึ่ง น้ำหนักของพืชชนิดนี้เองที่ใช้เป็นน้ำหนักมาตรฐานที่เรียก กะรัต (karat)
คนไทยนิยมกินน้ำผึ้งตอนเช้าหรือก่อนนอน วันละ ๑-๒ ช้อนโต๊ะ เชื่อกันว่าจะทำให้มีสุขภาพดี ร่ายกายแข็งแรง และมีอายุยืน ลางคนไม่ชอบกินน้ำผึ้งเปล่าๆ แต่นิยมละลายน้ำอุ่นดื่ม ลางคนก็เพิ่มน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อย โดยทั่วไปมักใช้น้ำอุ่น ๑0 ช้อนชา ผสมเกลือและน้ำมะนาวตามควร ละลายน้ำผึ้ง ๕ ช้อนชา คนให้เข้ากันแล้วดื่ม เป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ บำรุงหัวใจ
ตำรายาสรรคุณโบราณว่า น้ำผึ้งใหม่ๆมีรสหวาน ร้อน ฝาด มีสรรพคุณบำรุงกำลัง แก้สะอึก แก้ไข้ตรีโทษ เป็นยาอายุวัฒนะ
โบราณใช้ขี้ผึ้งทำสีผึ้ง
สีผึ้ง (lip balm) คือขี้ผึ้งที่โบราณใช้ทาถูปากหลายๆครั้ง อาจเพื่อกันปากแห้งและปากแตก หรือเพื่อให้ริมฝีปากสวย มีกลิ่นหอม (คำ “สี” ในที่นี้หมายถึงทาถูไปมาหลายๆครั้ง) โบราณเตรียมโดยการผสมขี้ผึ้ง (beeswax) กับน้ำมันสำโรงซึ่งได้จากการบีบเมล็ดสำโรง (sterculai foetida L. ในวงศ์ Sterculiaceae) แล้วแต่งกลิ่นด้วยน้ำมันพัตชุลี (oil of patchouli) ซึ่งได้จากการกลั่นใบของต้นพิมเสน (Pogostemon cablin Benth. ในวงศ์ Labiatae) หรืออาจแต่งกลิ่นด้วยน้ำมันระเหยง่ายอย่างอื่นก็ได้
น้ำพิษผึ้งแก้ข้ออักเสบและลมจับโปง
ชาวจีนใช้น้ำพิษผึ้งแก้โรคและอาการต่างๆ รวมทั้งข้ออักเสบและลมจับโปงเป็นเวลานานกว่าพันปี ชาวกรีกและชาวโรมันก็เคยใช้น้ำพิษผึ้งบำบัดโรคหรืออาการหลายอย่าง ในพระคัมภีร์ อัลกุร อ่าน บทที่ ๑๖ (๗๑) ระบุว่าน้ำพิษผึ้งเป็นยาสำหรับมนุษย์ ดังนี้ “There proceeded from their bellies a liquor wherein is a medicine for men. (ในท้องของมันมีของเหลวที่เป็นยาสำหรับมนุษย์)
แพทย์ในประเทศตะวันตกหลายประเทศก็เคยใช้น้ำพิษผึ้งแก้ข้ออักเสบและลมจับโปง เดิมเคยบำบัดโดยให้ผึ้งต่อยบริเวณข้อที่ปวดโดยตรง และปล่อยน้ำพิษออกมาเป็นเวลา ๓-๕ นาที จึงถอนเหล็กในออก ก่อนให้ผึ้งต่อยต้องทำความสะอาดบริเวณนั้นด้วยน้ำอุ่นผสมสบู่ (ห้ามใช้แอลกอฮอล์เช็ด เพราะจะทำให้เหล็กในผึ้งจมหายไปในผิวหนังหลังผึ้งต่อย) โดยทั่วไปมักใช้ผึ้งคราวละ ๑-๒0 ตัว หรือมากกว่านี้ในรายที่มีอาการรุนแรง หลังจากเอาเหล็กในออก วิธีค่อนข้างยุ่งยาก และบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยก็จะเจ็บปวดมาก ดังนั้นเพื่อลดความเจ็บปวด อาจทายาชาเฉพาะที่บริเวณที่ผิวหนังที่จะให้ผึ้งต่อยก่อน
ต่อมามีการพัฒนาน้ำพิษผึ้งให้เป็นยาฉีด โดยละลายน้ำพิษผึ้งด้วยน้ำร้อนหรือน้ำมัน สำหรับฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก โดยทั่วไปมักฉีดน้ำพิษผึ้งในขนาดเท่ากับน้ำพิษที่ได้จากผึ้ง ๒00 ตัวใน ๑ รอบของการบำบัด โดยเริ่มต้นฉีดครั้งแรกที่ขนาดเทียบเท่ากับน้ำพิษจากผึ้ง ๑ ตัว เข้าใต้ผิวหนัง หากไม่มีอาการแพ้ ต่อไปจึงเพิ่มขนาดได้ถึง ๑0 เท่าต่อ ๑ ครั้งที่ฉีด แต่ต้องพิจารณาสุขภาพของคนไข้และอาการของโรคประกอบด้วย โดยให้ฉีดวันเว้นวัน โดยจะได้รับน้ำพิษผึ้งเท่ากับน้ำพิษของผึ้งงาน ๒00 ตัว บริเวณที่ควรฉีดคือบริเวณที่ต้นแขนหรือต้นขาสลับกัน หรือฉีดในบริเวณที่ปวดในประเทศจีนมักนิยมฉีดที่บริเวณจุดแทงเข็ม (acupuncture point)
อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำพิษผึ้งบำบัดโรคหรืออาการต่างๆนั้น พึงใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากน้ำพิษผึ้งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ หรืออาการ ปวด บวม แดง บริเวณที่ได้รับน้ำพิษผึ้ง รวมทั้งอาการข้างเคียงต่างๆ ได้มากมาย เช่น ชาตามส่วนต่างๆของร่างกาย เวียนหัว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น แต่ อาการเหล่านี้อาจหายไปได้เอง
การใช้น้ำพิษผึ้งบำบัดโรคข้ออักเสบหรือลมจับโปง นี้เคนเป็นที่นิยมกันมากในประเทศตะวันจก จนเมื่อมีการพัฒนากลุ่มยาสเตียรอยด์ขึ้น การใช้น้ำพิษผึ้งบำบัดโรคดังกล่าวจึงลดลง แต่ก็ยังมีใช้อยู่บ้างในลางประเทศ โดยเฉพาะในรัสเซีย และประเทศในทวีปอเมริกาใต้ลางประเทศ เช่น บราซิล
รปถาพจาก:pixabay.com,rentokil.se,australia-shop.org