ชันโรง

ชันโรง

ชันโรงเป็นแมลงที่มีรูปร่างลักษณะและนิสัยหลายอย่างคล้ายผึ้ง มีหลายชนิด
จัดอยู่ในสกุล Trigona
ในวงศ์  Apidae
มีชื่อสามัญว่า stingless  bee  หรือ  mosquito  bee

มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆมากมายหลายชื่อ เช่น ผึ้งหอยโข่ง ผึ้งตะโหงกวัว ทางภาคเหนือเรียกชนิดตัวเล็กว่า ขี้ตัวนี หรือ ขี้ตึง เรียกชนิดตัวใหญ่กว่านี้ว่า ขี้ย้าดำ และเรียกชนิดที่มีขนาดใหญ่มากว่า ขี้ย้าแดง ในภาคอีสานมักพบชันโรงทำรังอยู่ใต้ดินเรียก ขี้สูด หรือ แมงขี้สูด ทางภาคใต้เรียก แมงอุง อุงหมี อุงดำ ทางภาคตะวันออกเรียกตัว ชำมะโรง หรือ อีโลม ทางภาคตะวันตกเรียก ตัวตุ้งติ้ง หรือ ติ้ง

ชีววิทยาของชันโรง
ชันโรงเป็นแมลงมีปีกบางใสสองคู่ ปีกคู่หลังเล็กกว่าปีกคู่หน้า ค่อนไปทางยาวมากกว่ากว้าง ปีกคู่หน้าคล้ายรูปสามเหลี่ยม ปากมีลักษณะผสม คือ สามารถกัดอาหารให้ขาด และมีส่วนที่เป็นท่อยาวสำหรับดูดน้ำหวานกินได้ ส่วนหัวกว้างเท่าๆกับส่วนอก หนวดสั้นคล้ายเส้นด้าย ปล้องแรกๆของส่วนท้องบริเวณที่เชื่อมกับอกคอดกิ่ว มีขนที่ละเอียดปกคลุมทั้งส่วนหัวและส่วนอก และส่วนท้อง อาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม มีชีวิตความเป็นอยู่แบบสังคม แบ่งหน้าที่เป็นรังรวมตามวรรณะเหมือนผึ้ง คือ ตัวผู้ทำหน้าที่ผสมพันธุ์ ตัวเมียทำหน้าที่ออกไข่แลแร่พันธุ์ และวรรณะกรรมกรทำหน้าที่สร้างรวงรัง หาอาหาร และป้องกันศัตรูรบกวน

ชันโรงแต่ละวรรณะได้รับการเลี้ยงดูจากช่องช่องรังที่มีขนาดเดียวกันทำให้มีขนาดไล่เลี่ยกัน ไม่เหมือนผึ้งซึ่งแต่ละวรรณะได้รับการเลี้ยงดูจากช่องรังที่มีลักษณะต่างกัน   ผึ้งเมียจึงมีลักษณะโตกว่าผึ้งผู้ และผึ้งผู้โตกว่าผึ้งงาน อย่างไร ก็ตาม เมื่อได้รับการผสมแล้ว ชันโรงตัวเมียจะมีไข่ในท้องมาก ทำให้ท้องโตผิดปรกติและอุ้ยอ้ายจนไม่สามารถบินได้ ต้องอยู่แต่ในรัง กินอาหารที่ลูกรังหามาสำรอง ไว้ให้ในบริเวณที่ถูกจัดให้เป็นที่ไว้อาหาร  และทำหน้าที่วางไข่เพียงอย่างเดียว 

ชันโรงที่เป็นวรรณะกรรมกรมีขาหลังแบนใหญ่  มีช่องสำหรับเก็บเกสรดอกไม้ ขนไปยังรวงรังได้แบบเดียวกันกับผึ้งงาน  แต่ชันโรงไม่มีเหล็กที่ผึ้งงานและต่อกับต่อมพิษเหมือนผึ้งงาน จึงไม่อาจใช้ต่อยศัตรู หรือทำให้ศัตรูรู้สึกเจ็บหรือปวดได้  ดังนั้น  ฝรั่งจึงเรียกชันโรงว่า  stingless  bee  ซึ่งหมายถึงผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน การต่อสู้ด้วยวิธีของชันโรงจึงใช้ปากกัด หรือปล่อยสารเหนียวตรึงศัตรูให้อยู่กับที่ แต่ชันโลงลางชนิดก็ปล่อยสารพิษที่กลั่นจากลำตัว   ทำให้ศัตรูมีอาการแสบร้อนได้

ในประเทศไทยมีชันโรงแล้วไม่น้อยกว่า ๒๒ ชนิด ทุกชนิดจัดอยู่ในสกุล Trigona  ยกเว้นชนิดเดียวที่มีขนาดเล็กที่สุดที่พบในไทย คือ ชนิด Hypotrigona  (Lisotrigona)  scintillans  (Cockerell) ซึ่งมีขนาดลำตัวราว ๒ มิลลิเมตร เท่านั้น ชนิดที่มีขนาดเล็กและพบบ่อยๆในไทย คือชนิด Trigona (Tetragonula)  fuscobalt  eata  (Sclewarg) ซึ่งมีความยาวลำตัวราว ๔ มิลลิเมตร มีหัว อก และหนวดสีน้ำตาลไหม้หรือสีเกือบดำ ท้องและขาสีน้ำตาลเข้ม ปีกสีน้ำตาลอ่อนบางใสตลอด ชนิดอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและมีขนาดไล่เลี่ยกัน คือชนิด  Trigona  (Lepidotrigona)  terminate  (Smith) ชนิดนี้ท้องและขามีสีเข้มกว่า และใกล้เคียงกับสีของอกและหัว   ขอบด้านหน้าของปีกคู่หน้ามีเส้นปีกเข้มในบริเวณกึ่งกลางปีก

ชันโรงขนาดกลางที่พบได้มากคือ ชนิด Trigona  (Tetrigona)  apicalis (Smith) ชนิดนี้มีลำตัวยาวราว ๗ มิลลิเมตร หัว อก ท้อง หนวด และขา  มีสีดำหรือสีน้ำตาลไหม้จนเกือบดำ ปีกคู่หน้าจากโคนปีกถึงกึ่งกลางปีกมีสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลเข้มส่วนที่เหลือจากกึ่งกลางปีกจนถึงปลายปีกมีสีอ่อนจนเกือบสีขาว ปีกคู่ที่ ๒ มีสีน้ำตาลแก่แทบทั้งปีก ยกเว้นที่ปลายปีกมีสีน้ำตาลอ่อนจนเกือบขาว ชนิดที่มีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อยคือ ชนิด Trigona  (Tetragonula) geissleri  (Cockerell) มีลำตัวยาวราว ๖  มิลลิเมตร สีของลำตัวและส่วนอื่นๆ  คล้ายกับชนิด  apicalis  แต่แตกต่างกันตรงที่สีของปีกคู่แรกเป็นสีน้ำตาลเข้มที่โคนปีกแผ่ออกไปไม่ถึงกึ่งกลางปีก ส่วนที่เหลือบางใสไม่มีเจือปนด้วยสีขาวเลย

ชันโรงที่มีขนาดใหญ่เห็นจะเป็นชนิด Trigona (Homotrigona) fimbriata (Smith) มีลำตัวยาวราว ๑๑ มิลลิเมตร มี หนวด หัว อก และท้องสีน้ำตาล ตาสีดำ  ขาสีน้ำตาลเข้มกว่าลำตัว  ปีกสีน้ำตาลบางใสตลอด  ชนิดนี้ทำรังโตขนาดหอยโข่งหรือบางครั้งขนาดตะโหงกวัว จึงมักเรียก ผึ้งหอยโข่ง  และ  ผึ้งตะโหงกวัว

ชันโรงมักทำรังในโพรงไม้  ซอกหิน ตามรอยแตกของกำแพง ฝาผนังบ้านเรือนหรือแม้กระทั่งในดินที่เป็นโพรง ลูกรังอาศัยขี้ผึ้งจากต่อมขี้ผึ้งบริเวณด้านล่างของส่วนท้องผสมกับยางไม้ หรือน้ำมันชัน และลางครั้งอาจทำด้วยเศษดินต่างๆ  สร้างเป็นรังซึ่งมีช่องแบบรังผึ้ง โดยแบ่งเป็นเศษอาหาร อันได้แก่ น้ำหวานและเกสรดอกไม้และส่วนที่ใช้เป็นที่เลี้ยงลูกอ่อน ซึ่งเมื่อแม่รังวางไข่และลูกรังเติมอาหารจนเต็มแล้วก็จะสร้างฝาปิดรัง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ไข่ที่เจริญเติบโตเป็นตัวหนอนจนกระทั่งเป็นดักแด้   ภายในช่องรังไม่มีโอกาสสัมผัสกับแม่รังหรือลูกรังเลย แม่รังมีหน้าที่วางไข่ในช่องรังที่ลูกรังสร้างไว้ให้ และอาศัยอาหารที่ลูกรังสะสมกิน ชันโรงตัวผู้มีส่วนช่วยในการหาอาหารหรือต่อสู้กับศัตรูเพื่อป้องกันรัง อันเป็นหน้าที่ของลูกรัง

รังของชันโรงอาจสังเกตได้จากบริเวณทางเข้า ซึ่งมักเป็นช่องแคบๆ มีวัตถุเป็นยางผสมเปรอะเปื้อนเหนียวๆ รอบบริเวณนั้น หรือลางครั้งอาจทำเป็นหลอด หรือท่อเล็กๆโผล่ออกมา ชันโรงสามารถปั้นวัตถุผสมยางไม่ให้เป็นแผ่นบางปิดรังเป็นชั้นๆ หรือผนึกรังในเวลากลางคืนเพื่อป้องกันมดหรือศัตรูอื่นๆ  เข้าไปในรวงรัง และเปิดฝาคลานออกมาเป็นทางเข้าออกหาอาหารในวันใหม่ต่อไปได้

เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ ชันโรงจะบินออกมาผสมพันธุ์กันทางอากาศแบบเดียวกับผึ้งในรังหนึ่งๆ อาจมีแม่รังได้หลายตัว เมื่อมีการแยกรัง พวกลูกรังมักออกหารังใหม่ซึ่งไม่ไกลจากรังเดิมเท่าใดนัก เมื่อพบที่ที่เหมาะสมเป็นรังใหม่ กลุ่มลูกรังจะไปช่วยกันทำความสะอาดและช่วยกันขนวัสดุและอาหารจากรังเกิมไปใส่ไว้รังใหม่เพื่อไปสำรองไว้และเมื่อทำทางเข้าออกเรียบร้อยแล้วยกขบวนจากรังเดิม ซึ่งในขบวนนี้อาจมีแม่รังหนึ่งตัวหรือหลายตัว พร้อมด้วยตัวผู้และลูกรังอาศัยในรังใหม่เป็นการถาวร ต่อไป

ในการหาอาหารนั้น  หากลูกรังตัวใดไปพบรังอาหารใหม่ ก็จะบินกลับมาแสดงปฏิกิริยาให้ลูกรังตัวอื่นสนใจ เพื่อไปเก็บอาหารได้โดยไม่ต้องมีการนำทาง เพื่อเป็นเครื่องนำทางให้ลูกรังตัวอื่นตามรอยไปถึงอาหารแหล่งใหม่ได้

ชันโรงมีประชากรในรังนับพัน และลางรังที่มีขนาดใหญ่อาจมีลูกรังเป็นจำนวนนับหมื่นๆตัว จึงมีบทบาทมากในการผสมเกสรให้แก่พืชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชป่า พืชไร่ ไม้ผล ไม้ดอก และผัก เป็นต้น เป็นแมลงที่มีส่วนเสริมให้ดอกส่วนที่หลงเหลือจากการผสมพันธุ์ของผึ้ง มีโอกาสติดผลเพิ่มขึ้น จัดเป็นแมลงที่ไม่ค่อยเลือกผสมเกสรและน้ำหวานของดอกไม้ จึงทำให้ผสมพันธุ์พืชได้อย่างกว้างขวาง และมีประโยชน์มากในบริเวณที่มีแมลงชนิดนี้ชุกชุม

 ประโยชน์ทางยา
แพทย์แผนไทยรู้จักใช้ชันจากตัวชันโรง ซึ่งลางถิ่นเรียก ชันณรงค์ ชันแมลงลม ขี้สูด ขี้หูด หรือ ชันรำโรง เป็นต้น  เข้าเป็นเครื่องยาในยาหลายขนาน เช่น ยาขนานที่  ๖๙  ใน ตำราพระโอสถพระนารายณ์ เข้า “ชันรำโรง” เป็นเครื่องยาด้วย น้ำหวานที่ได้จากรังชันโรงมักมีกลิ่นยางไม้ผสม มักมีรสเปรี้ยวเป็นรสเฉพาะซึ่งชาวบ้านลางถิ่นคั้นดื่มเหมือนน้ำผึ้ง นอกจากนั้นในสมัยโบราณ ชันโรงยังถูกนำมาผลึกกับปรอท บรรจุไว้ในเปลือกหอย หรือ ในเปลือกลูกไม้ (เช่นเมล็ดสวาด) แล้วปลุกเสกเป็นเครื่องยาของขลัง เรียกกันว่า “เบี้ยแก้” สำหรับป้องกันภัยต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวชนบทในหลายท้องถิ่น

 

รูปภาพจาก:thaiarcheep.com,thaistinglessbee.wordpress.com,