สมุนไพรนุ่น

สมุนไพรนุ่น

นุ่น (Ceiba pentandra Gaertn.)
บางถิ่นเรียก นุ่น ง้าว งิ้วน้อย งิ้วสร้อย งิ้วสาย (กลาง).

เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-30 เมตร ลำต้นตั้งตรง ทรงพุ่มคล้ายรูปเจดีย์ กิ่งออกรอบลำต้นและตั้งฉากกับลำต้น. ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 5-11 ใบ รูปหอกกลับ หรือ รูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลมเป็นหางยาว 0.5-1.0 ซม. ขอบใบเรียบ โคนใบเรียวแหลม มีขนาดกว้าง 2.0-3.0 ซม. ยาว 5-12 ซม. เส้นใบ 9-12 คู่ ก้านใบย่อยยาวยาว 1-2 มม. ก้านใบยาว 8-20 ซม. ก้านใบและเส้นกลางใบมีสีแดงอมน้ำตาล. ดอก ออกเป็นกระจุก ๆ ละ 1-5 ดอก ก้านดอกยาว 2.5-4 ซม. กลีบรองกลีบดอกยาว 1-1.5 ซม. เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 2-3 ซม. เชื่อมติดกันที่โคน ด้านนอกสีขาวนวล มีขน ด้านในสีเหลือง เกสรผู้ 5 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นท่อที่โคน เกสรผู้และเกสรเมียยาวเกือบเท่ากัน วัดได้ประมาณ 3-5 ซม. เกสรเมีย 1 อัน ภายในมี 5 ช่อง รังไข่รูปกรวยคว่ำ ท่อเกสรเมียที่ติดกับรังไข่คอด และป่องเป็นกระเปาะกลมที่เหนือท่อก้านเกสรผู้ ปลายท่อเกสรเมียมี 5 แฉก. ผล รูปยาว มีขนาดกว้างประมาณ 5 ซม. ยาวประมาณ 11 ซม. ภายในผลมี 5 ช่อง มีนุ่นสีขาวเป็นปุย มีเมล็ดจำนวนมาก สีดำ ผิวเกลี้ยง.

นิเวศน์วิทยา : ถิ่นเดิมอยู่แถบอันดามัน มีปลูกทั่วไปในเขตร้อน.

สรรพคุณ : ทั้งต้น แก้ไข้ แก้ไอ ใบ เผาไฟผสมหัวขมิ้นอ้อยและข้าวสุกพอกฝีให้แตกหนอง ชาวมาเลใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้ไข้ แก้โรคเรื้อน และใช้ดื่มสำหรับสตรีหลังการคลอดบุตร  ชาวสิงคโปร์ใช้ใบตำกับหัวหอม ขมิ้นและน้ำ ดื่มวันละ 3 ครั้ง แก้ไอ แก้เสียงแหบห้าว หวัดลงท้อง ท่อปัสสาวะอักเสบ ใบอ่อน กินแก้เคล็ดบวม  เปลือก ปรุงรวมกับยาอื่นเป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อยภายใน ขับปัสสาวะ ทำให้อาเจียน ชาวฟิลิปปินส์ใช้เป็นยาโป๊ ต้มใช้แก้หืดและหวัดในเด็ก ชาวชวาใช้เปลือกผสมกับหมาก ลูกจันทน์เทศและน้ำตาล ใช้ขับปัสสาวะ ใช้ได้ดีในกรณีที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ราก ชาวอินเดียใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้บิดเรื้อรัง แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ แก้แมลงป่องต่อย น้ำคั้นจากราก รักษาโรคเบาหวาน. ผลอ่อน เป็นยาฝาดสมาน ยางไม้ เป็นยาบำรุง ฝาดสมาน ขนจากเมล็ด เรียก “นุ่น” ใช้ยัดหมอน ที่นอน น้ำมันจากเมล็ด เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ

 

รูปภาพจาก:biogang.net,samunpri.com