สมุนไพรโมกใหญ่

สมุนไพรโมกใหญ่

โมกใหญ่ (Holarrhena antidysenterica Wall. Ex A. DC.)
บางถิ่นเรียก โมกใหญ่ (กลาง) พุด (กาญจนบุรี) พุทธรักษา (เพชรบุรี) มูกมันน้อย มูกมันหลวง มูกหลวง โมกเขา โมกทุ่ง โมกหลวง (เหนือ) ยางพุด (เลย) หนามเนื้อ (เงี้ยว-พายัพ)

เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก-กลาง สูง 2-12 เมตร เปลือกเรียบเกลี้ยง มีน้ำยางสีขาว. ใบ ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน รูปทรงหลายแบบ เช่น รูปรี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่ และรูปหอกกลับ กว้าง 5-12 ซม. ยาว 10-27 ซม. ปลายใบแหลม หรือ มน โคนใบแหลม หรือ ป้าน ด้านล่างมีขน แผ่นใบบาง ร่วงง่าย เส้นใบ 11-20 คู่  ก้านใบยาวไม่เกิน 5 มม. ดอก สีขาว กลิ่นหอม ออกเป็นช่อใกล้ยอด ช่อดอกยาว 5-10 ซม. มีขน ก้านช่อยาว 0-1 ซม. ก้านดอกเรียวเล็ก ยาว 6-12 มม. กลีบรองกลีบดอก โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อสั้น ๆ ปลายแยกเป็นกลีบแหลม ๆ 5 กลีบ รูปร่างคล้ายระฆัง มีขน ด้านในมีต่อม กลีบดอก โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อเล็ก ๆ ยาว 9-11.5 มม. โคนท่อป่องเป็นกระเปาะ ปลายแยกเป็นกลีบมน ๆ 5 กลีบ โคลนกลีบแคบ กลีบยาว 10-19 มม. ปลายแหลม รังไข่ 2 ช่อง แยกจากกัน. ผล เป็นฝัก ออกเป็นคู่กว้าง 6-7 มม. ยาว 15-30 ซม. ฝักตรง หรือ งอเพียงเล็กน้อย ปลายแหลม โคนแบน เปลือกสีดำ แก่จัดแตกเป็น 2 ซีก ภายในมีหลายเมล็ด เมล็ดรูปขอบขนาด ยาวประมาณ 15 มม. มีขนติดกันเป็นกระจุกที่ปลาย.

นิเวศน์วิทยา ขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณ และป่าแล้งทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ยังพบขึ้นกระจัดกระจายตามทุ่งหญ้า และในป่าไผ่.

สรรพคุณ  เปลือก แก้โรคบิด เป็นยาเจริญอาหาร ในอินเดียนอกจากใช้เปลือกในการแก้โรคบิดแล้ว ยังใช้แก้ท้องมานได้ด้วย โดยนำเปลือกแห้งมาป่นให้ละเอียดแล้วทาตามตัว ใบ ขับน้ำนม ระงับปวดกล้ามเนื้อ รักษาฝี ดอก ขับพยาธิ เมล็ด เป็นยาฝากสมาน แก้ไข้ แก้บิด แก้ท้องเดิน ขับพยาธิในลำไส้เล็ก ขับลม แก้โรคผิวหนัง ไฟลามทุ่ง ทำให้เคลิ้มฝัน  Kurchicine เป็นแอลคาลอยด์ ที่ทำให้สัตว์ทดลองเป็นอัมพาตในขนาด lethal dose แต่ถ้าขนาดน้อยจะทำให้ความดันสูงขึ้น

 

รูปภาพจาก:hong-pak.com,qsbg.org,สมุนไพร