สมุนไพรผักโขมหนาม

สมุนไพรผักโขมหนาม

ผักโขมหนาม (Amaranthus spinosus Linn.)
บางถิ่นเรียก ผักโขมหนาม(ภาคกลาง) ผักโหมหนาม (ภาคใต้)

เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขา สูง 15-100 ซม. ลำต้นกลม หรือ เป็นเหลี่ยมมน ๆ สีเขียว หรือ สีแกมม่วง ต้นเกลี้ยง หรือ มีขนเล็กน้อย มีหนามแหลม ๆ ยาว 0.5-2 ซม. อยู่ทั่วไป มักจะพบตามข้อเป็นส่วนมาก. ใบ ออกสลับกัน รูปไข่ หรือ รูปหอก โคนใบแหลม ค่อย ๆ กว้างขึ้น และแหลมเข้าสู่ปลายใบ ปลายใบแหลมมน หรือ ผ่าเว้าเล็กน้อย บ่อยครั้งที่พบว่าปลายใบยื่นเป็นหนามแหลมสั้น ๆ ใบเกลี้ยง แต่ใบอ่อนอาจมีขนเล็กน้อยตามเส้นใบ ใบกว้าง 1-3 ซม. ยาว 3-8 ซม. ก้านใบ ยาว 1.5-8 ซม. ดอก สีเขียว ดอกตอนล่างๆ จะออกตามง่ามใบเป็นกระจุก และจะมีหนามแหลมตรงๆ 2 อัน หรือ อาจมากว่า 2 ก็ได้อยู่ด้วย หนามยาว 0.5-2 ซม. ดอกตอนบนๆ จะออกเป็นช่อตามยอดและง่ามใบ ไม่มีก้านดอก ดอกเพศผู้จะอยู่เหนือโคนช่อดอกชนิดนี้ บริเวณนี้จะมีหนามอ่อน ๆ หรือ ไม่มีหนามเลย แต่ตอนโคนของช่อดอกต่ำกว่าบริเวณที่มีดอกเพศผู้ จะมีหนามแหลมตรง 2 อัน เช่น เดียวกับดอกที่เป็นกระจุก กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายกลีบเป็นติ่งแหลมสั้นๆ

นิเวศน์วิทยา พบขึ้นอยู่ทั่วไป

สรรพคุณ แพทย์แผนโบราณของไทย ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ตกเลือด แน่นท้อง และขับน้ำนม ในอินเดีย ใช้รากเป็นยาแก้ตกเลือด รักษากามโรค หนองใน อาการจุกเสียด และโรคเรื้อนกวาง เป็นยาขับและส่งเสริมการไหลของน้ำนม ใบและราก ต้มรับประทานเป็นยาระบายของเด็ก และใช้อาบแก้อาการคันที่ผิวหนัง ใบและต้นตำพอกปิดแผลที่เป็นหนอง ฝี และแผลที่เกิดจากถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก นอกจากนี้ยังใช้ทั้งต้นเป็นยา แก้พิษงูกัด ในอินโดนีเซีย ใช้รากต้มเป็นยาขับประจำเดือนให้มาตามปกติ ใช้ขับปัสสาวะในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นกามโรคหนองใน ใบมีคุณสมบัติในการฟอกโลหิต ใช้ได้ทั้งรับประทานและพอกแผล นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ๆ เช่น ฝอยลม (Usnea barbata) อบเชย (Cassia bark) และ ชะลูด (Alyxia stellata) รักษาหวัดและเจ็บคอ

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,allkaset.com,สมุนไพร