สมุนไพรอังกาบหนู

สมุนไพรอังกาบหนู

อังกาบหนู (Barleria prionitis Linn.)
บางถิ่นเรียก อังกาบหนู เขี้ยวเนื้อ เขี้ยวแก้ว (ภาคกลาง) มันไก่ (ภาคเหนือ) อังกาบ (นครศรีธรรมราช)

เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 1 เมตร กิ่งและก้านใบสีเขียว มีหนามสีเขียวตรงโคนใบ และตามข้อ ยาวประมาณ 0.5 ซม ใบ ออกตรงข้ามเป็นคู่ๆ รูปรี ตรงกลางกว้าง โคนและปลายแหลม ขอบใบเรียบ ยาว 4-5 ซม. กว้าง 1-3 ซม. ก้านใบสั้น ยาวประมาณ 0.5 ซม. ดอก ออกเดี่ยวๆ ตามข้อข้างละ 1 ดอก ใบประดับซึ่งรองรับดอกเปลี่ยนเป็นหนามแหลม 1 คู่ กลีบรองกลีบดอกสีเขียวมี 5 กลีบ ยาวประมาณ 1 ซม. กลีบดอกสีเหลืองดอกบวม โคนเป็นหลอดยาวประมาณ 1 ซม. ตอนปลายแยกเป็น 5 กลีบเท่าๆ กัน เกสรผู้มี 4 อัน ยาว 2 สั้น 2 คู่ยาวโผล่พ้นกลีบดอก เกสรเมียเกลี้ยง ไม่มีขน ผล เป็นฝักรูปรี โคนกว้างปลายแหลม ยาว 1.8-2 ซม. กว้างประมาณ 0.8 ซม.

นิเวศน์วิทยา  นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ.

สรรพคุณ  กล่าวกันว่า ในประเทศไทย ใช้แก้งูกัด รากเป็นยาลดไข้ ในประเทศอื่น ๆ กล่าวถึงสรรพคุณของไม้นี้ไว้มาก เช่น ในอินเดีย ใช้น้ำที่คั้นจากใบ ซึ่งมีรสขม แก้เด็กเป็นหวัด และใช้ทากันเท้าแตก เป็นยาลดไข้ แก้อัมพาต โรคปวดตามข้อ โรคคัน และบวม ในอินโดนีเซีย เคี้ยวใบแก้ปวดฟัน น้ำที่คั้นจากใบใช้แก้โรครูมาติซั่ม ปวดหลัง และทาแก้ขี้กราก บางทีก็ใช้รากผสมกับน้ำมะนาวแก้ขี้กราก นอกจากนี้ยังใช้แก้อาหารไม่ย่อย และแก้ท้องผูก ในฟิลิปปินส์ใช้ใบ และยอดอ่อนต้มอาบ ในกรณีที่คนไข้เป็นหวัด น้ำที่คั้นนี้ถ้าเอามาผสมกับน้ำผึ้ง ใช้รักษาเลือดออกตามไรฟัน ใช้หยอดหู และเมื่อเอามาผสมกับน้ำนมใช้ให้คนที่จะคลอดลูกกิน.

หมายเหตุ พันธุ์ไม้ทั้งสองชนิดคือ B. lupulina Lindl. และ B. prionitis Linn. นี้ มักเรียกชื่อและจำสับสนกันเสมอ ข้อสังเกตที่แตกต่างกันชัดเจนก็คือ B. lupulina ใบยาว ก้านใบ และกิ่งสีแดงอมน้ำตาล ดอกออกเป็นช่อสีเหลืองจำปา ส่วน B. prionitis ใบสั้นและกว้าง ดอกออกเดี่ยวๆ สีเหลืองดอกบวบ ออกตามข้างกิ่ง.

 

รูปภาพจาก:bloggang.com,pinterest.com,สมุนไพร

รายการล่าสุดที่คุณดู