น้ำมะงั่ว

น้ำมะงั่ว

น้ำมะงั่ว ได้จากการบีบหรือคั้น น้ำจากมะงั่วหรือส้มมะงั่วที่แก่จัด มะงั่วเป็นผลของพืชที่มี
ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Citrus medica L. Var. medica
ในวงศ์ Rutaceae
บางถิ่นเรียก มะนาวควาย (ยะลาปัตตานี) ส้มโอมะละกอ (เชียงใหม่)  มะเว่อ หรือหมากเว่อ (ภาคอีสาน) ก็มี ฝรั่งเรียก citron

โบราณว่า น้ำมะงั่วมีรสเปรี้ยว มีสรรพคุณฟอกโลหิต ขับโลหิต แก้ไอ เป็นยาสมาน แก้ผิดสำแดง ในตำราพระโอสถพระนารายณ์มียา ๒ ขนาน คือขนานที่ ๔ แก้เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) พิการ ระบุให้ใช้ส้มมะงั่วเป็นกระสายยา ส่วนขนานที่ ๙ ยาแก้ลมป่วง ให้ใช้น้ำมะม่วงเป็นกระสายยา ดังนี้

  • ถ้าจะยาไซ้ ให้เอาตรีกฏุก ผลกะเช้า ขมิ้นอ้อย เสมอภาค น้ำมะงั่วเปนกระสาย บดทำแท่ง ละลายน้ำร้อนกินบ้าง ใส่ตาบ้าง หายฯ

มะงั่ว เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูง ๓-๕ เมตร ลำต้นโตวัดขนาดผ่าศูนย์กลางได้ ๕-๑๕ เซนติเมตร มีกิ่งมาก เปลือกต้นสีเทาอมขาว ยอดอ่อนสีเขียวอมม่วงถึงสีม่วง ใบเป็นใบประกอบชนิดลดรูป เหลือใบเดียว ออกสลับ ใบรูปขอบขนานกว้างหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๔-๕ เซนติเมตร ยาว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ปลายใบโคนมน ขอบจักเป็นฟันเลื่อย ก้านใบสั้น มีหนามที่ซอกใบ หนามยาวกว่าก้านใบเล็กน้อย ช่อดอกสั้น ออกตามซอกใบ มี ๓-๑๐ ดอก ดอกเหมือนดอกส้มทั่วไป มีกลีบเลี้ยง ๕กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว แต่ผิวด้านนอกเป็นสีขาวอมชมพูหรือปนม่วงอ่อน เกสรเพศผู้มีมาก ก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่มๆ หรือแยกไม่ติดกัน มีกลิ่นหอม รูปผลกลมยาว โตวัดขนาดผ่าศูนย์กลางได้ ๓-๔ เซนติเมตร ยาว ๕-๖ เซนติเมตร ได้ผลอาจมีปุ่ม หรือเปลือกหยาบ หนา ย่น และมีสีเหลืองช้ำๆ เนื้อในมีรสเปรี้ยว

จัดเป็นพรรณไม้สกุลส้ม (citrus) เมื่อขยี้ดมทุกส่วน เช่น ใบ ผิว เปลือก ผล จะมีกลิ่นหอม เนื่องจากมีต่อมน้ำมันระเหยง่ายอยู่ทั่วไป ผิวมะงั่ว ให้น้ำมันระเหยง่าย เรียกน้ำมันผิวมะงั่ว (essence of citron)  มีองค์ประกอบเป็น ไลโมนีน (limonene) และ ซิทรัล (citral) ส่วนเนื้อมีเฮสเพอริดินกลูโคไซด์ (hesperridin glucoside)

มีมะงั่วพันธุ์หนึ่ง ที่ปลูกรายผลจะแยกออกเป็นง่าม มีหลายง่าม คล้ายนิ้วมือ เรียก ส้มโอมือ ปัจจุบันมักเรียกผิดเป็น ส้มมือ ฝรั่งเรียก fingered citron หรือ buddha’s Finger ส้มโอมือเป็นผลของพืชชนิดเดียวกับมะงั่ว แต่เป็นคนละพันธุ์กัน คือได้จากพืชที่มีชื่อชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Citrus medica L. var. sarcodactylis Swingle ผิวเปลือกส้มโอมือแห้งใช้มากในยาจีน ในยาไทยใช้ผิวส้มโอมือแห้งใส่ไว้ในตลับทำเป็นยาดมเรียก ยาดมส้มโอมือ สำหรับแก้หน้ามืด เป็นลม วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน      ส้มโอมือ เป็นไม้พุ่มสูง ๒-๔ เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามยาวแข็ง เป็นใบประกอบชนิดลดรูปเรือใบย่อยใบเดียว กว้าง ๔-๕ เซนติเมตร ยาว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ปลายและโคนมน ขอบจักเป็นฟันเลื่อย ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ดอกเดี่ยว หรือเป็นกระจุก ๒-๓ ดอก ตามซอกใบและกิ่ง ดอกคล้ายดอกส้มทั่วไป มีกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ กลีบดอก ๕ กลีบ หลุดร่วงง่าย มีผลรูปรี ขนาดใหญ่ โตวัดขณะผ่าศูนย์กลางได้ ๘-๑๐ เซนติเมตร ยาว ๑๒-๑๕เซนติเมตร  ปลายผลเป็นแฉกคล้ายนิ้วมือที่งอ เมื่อสุกมีสีเหลือง ภายในผลมีสีขาวเหมือนเปลือกส้มโอ ไม่มีเนื้อและเมล็ด

รูปภาพจาก:wikiwand.com,wordpress.com,kasetporpeang.com