สมุนไพรโพกริ่ง

สมุนไพรโพกริ่ง

โพกริ่ง Hernandia nymphaeifolia (Presl) Kubitzki
บางถิ่นเรียกว่า โพกริ่ง โกงพะเหม่า (สุราษฎร์ธานี) โปง (กระบี่)

ไม้ต้น -> สูง 10-20 ม. เปลือกสีเทาเป็นมัน ไม่มีหูใบ
ใบ -> เดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปไข่กว้าง 9-28 ซม. ยาว 12-33 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบกลม ตัด หรือ เว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ขนเกลี้ยง ด้านบนเป็นมัน เส้นใบมี 5-9 เส้น ก้านใบยาว 6-20 ซม. ติดกับแผ่นใบแบบใบบัว แต่ค่อนข้างมาทางโคนใบ
ดอก -> ออกเป็นช่อตามง่ามใบใกล้ยอด หรือ ที่ยอด ช่อดอกยาว (รวมก้านดอก) 20-30 ซม. ขนละเอียดปกคลุม มีใบประดับและใบประดับย่อยติดทน มีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อเดียวกัน ดอกจะติดเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 ดอก ดอกเพศเมียอยู่ตรงกลาง มีดอกเพศผู้อยู่ขนาบข้าง ดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ มีขนละเอียดปกคลุมด้านนอก สีออกเขียวหรือออกน้ำตาล กลีบดอกมี 4 กลีบ สีขาว เกสรเพศผู้เป็นหมัน 4 อัน รูปกลม สีเหลืองอมส้ม รังไข่มีช่องเดียว ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3 มม. สีชมพู ก้านดอกสั้น มีฐานรองรับเป็นรูปถ้วย หรือ รูประฆัง เมื่อดอกได้รับการผสมฐานนี้จะโตขึ้น ดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ กลีบดอก 3 กลีบ ลักษณะคล้ายดอกเพศเมีย แต่เล็กกว่าเล็กน้อย เกสรเพศผู้มี 3 อัน อยู่ตรงข้ามกับกลีบเลี้ยง ก้านเกสรเพศผู้มีต่อม 2 ต่อมติดอยู่ที่โคน อับเรณูมี 2 ช่อง
ผล -> กลม หรือ รี กว้างประมาณ 20 มม. ยาวประมาณ 25 มม. มีใบประดับสีเขียวใสติดอยู่ เมื่อแก่จะแตกที่ปลาย เมล็ด ค่อนข้างกลม มีเนื้อคล้ายฟองน้ำหุ้มอยู่


นิเวศน์วิทยา

ชอบขึ้นตามหาดทราย พบทางภาคใต้ของไทย


สรรพคุณ

ราก -> ใช้เคี้ยวกินแก้พิษบางชนิด เช่น พิษจากการกินปู หรือ ปลาที่มีพิษ
ต้น -> ยางที่ใช้เป็นยาถูผิวหนังเพื่อกำจัดขน น้ำต้มเปลือกกินเป็นยาถ่าย
ใบ -> ใบอ่อนกินเป็นยาถ่าย
เมล็ด -> กินเป็นยาถ่าย แต่น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดเป็นพิษ

 

รูปภาพจาก:dnp.go.th,dnp.go.th,สมุนไพร