สมุนไพรเต็งหนาม

สมุนไพรเต็งหนาม

เต็งหนาม Bridelia retusa (Linn.) Spreng.
ชื่อพ้อง B. spinosa (Roxb.) Willd.
บางถิ่นเรียกว่า เต็งหนาม (ราชบุรี) จาลีลึกป๊วก (เขมร-สุรินทร์) รังโทน (นครราชสีมา) ว้อโบ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี.)

ไม้พุ่ม หรือ  ไม้ต้น -> สูงได้ถึง 15 ม.
ใบ -> เดี่ยว เรียงสลับกัน รูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 4-9.5 ซม. ยาว 8-20 ซม. ปลายใบแหลม หรือ มน ขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่นเล็กน้อย โคนใบมน เบี้ยวเล็กน้อย มีเส้นใบ 15-21 คู่ เรียงห่างกัน 3-5 มม. เส้นใบย่อยเรียงเป็นขั้นบันได ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนละเอียดสีขาวนวล ก้านใบยาว 8-12 มม.
ดอก -> เล็ก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ มีขน ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน. ดอกเพศผู้ ออกเป็นช่อ ยาว 3-15 ซม. ดอกกลม ติดกันเป็นกระจุกเล็ก ๆ ตามแกนกลางช่อ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 มม. กลีบรองกลีบดอกรูปไข่ปลายแหลม 5(4-6) กลีบ ดอกตูม กลีบรองกลีบดอกจะอยู่ชิดกันพอดี ไม่ซ้อนกัน กลีบดอกเล็กกว่ากลีบรองกลีบดอก รูปกลม ขอบหยักมน ๆ เกสรผู้มี 5 อัน ก้านเกสรผู้เชื่อมติดกันที่ฐาน ตอนบนกางออก อับเรณูเรียงขนานกัน ฐานดอกกว้าง รูปคล้ายหมอน หรือ เบาะ ติดกับท่อกลีบรองกลีบดอก. ดอกเพศเมีย ช่อดอก สั้นกว่าช่อดอกเพศผู้มาก ยาว 2-4 ซม. กลีบรองกลีบดอกมีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ กลีบดอกคล้ายรูปช้อนแกมขอบขนาน. รังไข่ขอบหยัก เมื่อยังอ่อนอยู่ในฐานดอก.
ผล -> กลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มม. ผลแก่สีม่วงแกมดำ แก่จัดแตกออกเป็น 3 เสี่ยง.


นิเวศน์วิทยา

ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าดิบแล้ง ป่าไผ่และตามทุ่งหญ้า เหนือระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,100 ม.


สรรพคุณ

ต้น -> เปลือกให้ยางสีแดง ผสมกับน้ำมันงา ใช้ทาถูนวดแก้ปวดข้อ น้ำต้มเปลือกเป็นยาฝาดสมาน กินเพื่อละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ผล -> กินได้มีรสหวาน

สมุนไพรเต็งหนาม

รูปภาพจาก:dnp.go.th,mind2623.blogspot.com,สมุนไพร