สมุนไพรยี่หร่า

สมุนไพรยี่หร่า

ชื่อพื้นเมืองอื่น  จันทร์หอม เนียม (เชียงใหม่) จันทร์ขี้ไก่ เนียมต้น (แม่ฮ่องสอน) สะหลี่ดี (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) ยี่หร่า โหระพาช้าง (ภาคกลาง) กะเพราญวณ (กรุงเทพ ฯ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum gratissimum L .
ชื่อวงศ์  LABIATAE
ชื่อสามัญ Cumin.

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม (ExS) สูงประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นและกิ่งอ่อนมีขน เมื่อแก่เกลี้ยง โคนต้นแข็ง
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ลักษณะใบรูปใบหอกแกมรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยหรือจักมน เฉพาะบริเวณโคนใบจะเรียบ มีขนละเอียดปกคลุมหรือมีขนประปราย ก้านใบยาวเล็ก และมีขนขึ้นทั่วไป
ดอก ออกเป็นช่อที่ยอดและปลายกิ่ง ช่อดอกแบบกระจะหรือกระจะซ้อน แกนกลางช่อมีขนนุ่ม ริ้วประดับรูปไข่ ปลายเรียวแหลม ไม่มีก้าน ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง
ผล ค่อนข้างกลม เล็ก มีรอยย่นตามผิว มีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่นๆของต้น เมื่อยังอ่อนเป็นสีเขียว พอแก่หรือสุกกลายเป็นสีน้ำตาล

นิเวศวิทยา                                     
ยี่หร่าเป็นไม้กลางแจ้ง ชอบแดด ขึ้นตามที่รกร้างหรือตามข้างถนน และปลูกเพื่อเป็นยา นิยมปลูกเป็นพืชในครัวเรือน

การปลูกและขยายพันธุ์                                     
ยี่หร่าขยายพันธ์ุด้วยการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคคุณ     
ใบ  รสเผ็ดปร่า กลิ่นหอม แก้ปวดและอัมพาต แก้แผลในปากสำหรับเด็ก ช่วยย่อย ขับปัสสาวะ แก้ปวดท้อง อาเจียน และขับลมในลำไส้ให้ผายแลัเรอ ขับลมทั่วสรรพางค์กาย                             
เมล็ด รสเผ็ดปร่า แก้ปวดศรีษะ ปวดปลายประสาท และเป็นยาระบาย แก้บิด ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับเสมหะ แก้นิ่ว ขับระดู

ทั้งต้น รสเผ็ดปร่าหอม แก้พิษตานซาง แก้นอนสะดุ้งผวา
ผลสุก รสเผ็ดปร่าหอม ขับลม แต่งกลิ่นอาหารให้หอม เช่น ขนมปัง ขนมเค้ก และอาหารอื่นๆ ใช้เป็นเครื่องเทศ

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้
1. แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลม โดยใช้เมล็ด 5 กรัม ต้มในน้ำสะอาด ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรืออาจจะใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงรสอาหารรับประทานก็ได้                                                              
2. รักษาแผลในปาก โดยนำใบสด 1 กำมือ 20-30 กรัม มาต้มในน้ำเดือด 500 ซีซี แล้วเคี่ยวให้เหลือ 250 ซีซี แล้วกรองเอาแต่น้ำใช้อมกลั้วคอ หรือ ดื่มเป็นยาช่วยย่อย ขับปัสสาวะ แก้ปวดท้อง อาเจียน และขับลมในลำไส้ให้ผายและเรอ

 

รูปภาพจาก:openrice.com,thaflysociety.com,สมุนไพร