สมุนไพรละหุ่ง

สมุนไพรละหุ่ง

ละหุ่ง Ricinus communis Linn.
บางถิ่นเรียกว่า ละหุ่ง มะละหุ่ง (ทั่วไป) คิติ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่งสอน) คีเต๊าะ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร) ปีมั้ว (จีน) มะโห่ง มะโห่งหิน (เหนือ) ละหุ่งแดง (กลาง).

ไม้พุ่ม หรือ ไม้ต้น -> ขนาดเล็ก สูงได้ถึง 6 ม.ยอดอ่อน และช่อดอกเป็นนวลขาว.
ใบ -> เดี่ยว เรียงสลับกัน กว้าง และยาว 15-60 ซม. มีแฉกเป็นแบบนิ้วมือ 5-12 แฉก ปลายแฉกแหลม ขอบหยักแบบฟันเลื่อน ที่ปลายแหลมของแต่ละหยักมีต่อม เนื้อใบค่อนข้างบาง ไม่มีขน สีเขียว หรือ เขียวแกมแดง ก้านใบยาว 10-30 ซม. มีต่อมที่ปลายก้าน.
ดอก -> ออกเป็นช่อที่ยอด หรือ ตามปลายกิ่ง ตั้งตรง สีเขียว หรือ ม่วงแดง มีทั้งดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่บนช่อเดียวกัน. ดอกเพศผู้ อยู่ตอนบน กลีบรองกลีบดอกบาง แยกเป็น 3-5 แฉก เกสรผู้จำนวนมาก ก้านเกสรติดกันเป็นกระจุก หรือ แยกเป็นกลุ่ม ๆ อับเรณูรูปค่อนข้างกลม. ดอกเพศเมีย อยู่ส่วนล่างของช่อดอก ก้านดอกยาวกว่าดอกเพศผู้ กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายกาบ ปลายมี 5 หยัก หลุดร่วงง่าย รังไข่มี 3 อัน แต่ละอันภายในมี 3 ช่อง มีไข่อ่อนช่องละ 1 หน่วย.
ผล -> รูปไข่. เป็นชนิดแก่แล้วแห้ง สีเขียว หรือ เขียวแกมม่วง ยาว 1-1.5 ซม. มีหนามอ่อน ๆ คลุม. เมล็ด มีพิษ มีน้ำมัน.


นิเวศน์วิทยา

ละหุ่งถิ่นเดิมอยู่ในแอฟริกาเขตร้อน ปลูกกันทั่วไป.


สรรพคุณ

ราก -> ตำเป็นยาพอกเหงือกแก้ปวดฟัน น้ำต้มรากกินเป็นยาระบาย
ใบ -> ใบสดมีฤทธิ์ฆ่าแมลงบางชนิดได้ น้ำต้มใบกินเป็นยาระบาย แก้ปวดท้อง ขับน้ำนม และขับระดู ใบเผาไฟใช้พอกแก้ปวดบวม ปวดตามข้อ ปวดศีรษะ และแผลเรื้อรัง ตำเป็นยาพอกฝี พอกศีรษะ แก้ปวด แก้บวมอักเสบ ตำประสมกับ Bland oil ที่อุ่นให้ร้อนใช้พอก หรือ ทาแก้ปวดตามข้อ และทาท้องเด็กแก้ท้องอืด
เมล็ด -> มีพิษมาก ถ้ากินเมล็ดดิบ ๆ เพียง 4-5 เมล็ด ก็อาจทำให้ตายได้ เมื่อจะจำมาใช้ทางยา ให้ทุบเอาเปลือกออก แยกจุดงอดออกจากเมล็ด ต้มกับน้ำนมครึ่งหนึ่งก่อน แล้วจึงต้มกับน้ำเพื่อทำลายพิษ กินแก้ปวดตามข้อ แก้ปวดหลัง ปวดเมื่อย เป็นยาถ่าย ตำเป็นยาพอกแผล แก้ปวดตามข้อ หีบเอาน้ำมันได้น้ำมันละหุ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในทางอุตสาหกรรม

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,puechkaset.com,สมุนไพร